หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม และคณะ
 
เข้าชม : ๑๘๓ ครั้ง
การแก้ไขฟื้นฟูเยาวชนผู้กระทำผิดในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต ๗ เชียงใหม่ตามแนวสติปัฏฐาน ๔
ชื่อผู้วิจัย : นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม และคณะ ข้อมูลวันที่ : ๑๑/๑๑/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
 
 
 
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

               การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูเยาวชนผู้กระทำผิด และผลของกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูเยาวชนผู้กระทำผิดในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต ๗ เชียงใหม่ตามแนวสติปัฏฐาน ๔ เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi – experiment) กับกลุ่มเยาวชน จำนวน ๕๔ คน โดยการประสานความร่วมมือกันระหว่าง ๓ องค์กร คือ กรมการศาสนา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ในการจัดโครงการศูนย์การเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมสำหรับเยาวชน ณ สถานศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบประเมินพฤติกรรม การสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และโครงการหลักสูตรการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสำหรับเยาวชน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ และ ค่า t –  test (Paired – test)
               
ผลการวิจัย พบว่า 

               ๑. เยาวชนที่ได้รับกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูตามแนวสติปัฏฐาน ๔  มีค่าเฉลี่ยของคะแนนสภาพอารมณ์และจิตใจสูงขึ้นกว่า ก่อนเข้ารับกระบวนการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑

               ๒. เยาวชนที่ได้รับกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูตามแนวสติปัฏฐาน ๔  มีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมและการปฏิบัติตัวทางวาจาสูงขึ้นกว่า ก่อนเข้ารับกระบวนการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑

               ๓. เยาวชนที่ได้รับกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูตามแนวสติปัฏฐาน ๔  มีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมและการปฏิบัติตัวทางกายสูงขึ้นกว่า ก่อนเข้ารับกระบวนการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑

               ๔. เยาวชนที่ได้รับกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูตามแนวสติปัฏฐาน ๔ มีค่าเฉลี่ยของคะแนนสภาพจิตใจและพฤติกรรมสูงขึ้นกว่า ก่อนเข้าร่วมกระบวนการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
               
               ภายหลังการแก้ไขฟื้นฟูกลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๕.๖ มีความประพฤติอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ ๗๔.๑ ความประพฤติอยู่ในเกณฑ์ปานกลางหรือพอใช้ และร้อยละ ๒๐.๔ มีความประพฤติอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำควรปรับปรุง สอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ซึ่งพบว่า การปฏิบัติธรรมมีผลทางด้านจิตใจและส่งผลให้เยาวชนมีพฤติกรรมทางกายและวาจาดีขึ้นในระดับพอใช้ เยาวชนรู้จักการควบคุมและพัฒนาตนเอง สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งให้ความเห็นว่า เยาวชนมีกิริยาสุภาพเรียบร้อย มีพฤติกรรมการปฏิบัติธรรมพอใช้ และมีผลการประเมินที่ชี้ให้เห็นว่า เยาวชนกระทำผิดกฎระเบียบน้อยลง มีสมาธิยาวขึ้น ยอบรับฟังเหตุผลของผู้อื่น มีความขยัน ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพ มีความเมตตากรุณา รู้สึกเกรงกลัวต่อบาป มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น กล้าแสดงออก มีความรับผิดชอบ และมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดโครงการอบรมเป็นประจำทุกปี มีการติดตามประเมินผลทุกระยะ มีการจัดหลักสูตรการอบรมอย่างต่อเนื่อง และจัดเตรียมความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ
               ในด้านความคิดเห็นของเยาวชน พบว่า การปฏิบัติธรรมควรใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมสันทนาการร่วมกับการปฏิบัติธรรม การแนะนำวิธีการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง การแบ่งฐานหรือแบ่งกลุ่มในการปฏิบัติธรรม การจัดสถานที่ให้เพียงพอต่อผู้เข้าอบรม การจัดพระวิปัสสนาจารย์ให้เพียงพอ และการจัดปฏิบัติธรรมในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕