หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญโญ (วันจันทร์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๗๑ ครั้ง
นรกและสวรรค์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๓๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญโญ (วันจันทร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  อาจารย์สมภาร พรมทา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ ธันวาคม ๒๕๓๓
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาแนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยศึกษารวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์โลกศาสตร์ และวรรณกรรมพุทธศาสนายุคปัจจุบันบางส่วน ทั้งนี้เพื่อนำเสนอทฤษฎีเป็นการยืนยันว่า นรกและสวรรค์มีอยู่จริงทั้งที่เป็นสถานที่ (รูปธรรม) และภาวะทางจิตใจ (นามธรรม) และนำเสนอวิวัฒนาการของแนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์ตั้งแต่ยุคคัมภีร์พระไตรปิฎกมาจนถึงยุคปัจจุบัน

           ในการศึกษา ผู้วิจัยได้แบ่งหัวข้อการศึกษาออกเป็น ๕ บท โดยเริ่มศึกษาแนวคิดเรื่องโลกในแง่ที่เป็นสังขารธรรมคือสัตว์สิ่งของที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น และในแง่ที่เป็นสถานที่อยู่อาศัยของสัตว์สิ่งของเหล่านั้น ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง “ปรโลก” กับกำเนิด ต่อจากนั้นจึงศึกษานรกและสวรรค์ในคัมภีร์พระไตรปิฎก นรกและสวรรค์ในคัมภีร์โลกศาสตร์ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดของบุคคลในพุทธศตวรรษที่ ๑๕–๒๐   และศึกษานรกและสวรรค์ใน วรรณกรรมพุทธศาสนายุคปัจจุบันซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่

          ผลของการศึกษาพบว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกมีเรื่องนรกและสวรรค์มาก เฉพาะในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ (สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) เพียงเล่มเดียว กล่าวถึงนรก ๔๖ ครั้ง และกล่าวถึงสวรรค์ ๗๕ ครั้ง ข้อความที่ว่าด้วยเรื่องนรกและสวรรค์เหล่านี้ มักจะเป็นการกล่าวสรุปถึงคติ(ที่ไป) ที่บุคคลผู้ทำความชั่วและความดีจะต้องไปเกิดหลังการตาย ส่วนข้อความที่ว่าด้วยเรื่องนรกและสวรรค์อย่างพิสดารทั้งในด้านลักษณะและประเภท      มี ปรากฏเช่นกัน แต่ไม่มากนัก คัมภีร์พระไตรปิฎกยังกล่าวถึงนรกและสวรรค์ที่เป็นภาวะทางจิตใจอีกด้วย

          คัมภีร์โลกศาสตร์กล่าวถึงนรกและสวรรค์เฉพาะที่เป็นสถานที่อยู่อาศัยเท่านั้น    โดยประมวลสรุปแนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์ในคัมภีร์พระไตรปิฎก  อรรถกถา  ฎีกา อนุฏีกา และปกรณ์วิเสส ทำให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์ในยุคต่อมา เริ่มคลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ส่วนแนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์ในวรรณกรรมพุทธศาสนายุคปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ
          ๑. ฝ่ายที่เห็นว่า นรกและสวรรค์มีอยู่จริงทั้งในฐานะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และในฐานะเป็นภาวะทางจิตใจ  การศึกษาจึงควรให้ความสำคัญทั้ง ๒ ประการ
           ๒. ฝ่ายที่เห็นว่า นรกและสวรรค์ที่เป็นภาวะทางจิตใจเท่านั้นมีอยู่แน่นอน สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน มีอยู่ในปัจจุบันนี้ และควรให้ความสำคัญเฉพาะนรกและสวรรค์ในแง่นี้เท่านั้น ส่วนนรกและสวรรค์ที่เป็นภพ-ภูมิในชาติหน้านั้นอยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้ จึงไม่ควรให้ความสำคัญและศึกษาตาม

           ผู้วิจัยเห็นว่า ทรรศนะที่มีจุดเน้นแตกต่างกันอย่างนี้ น่าจะมีการผสมผสานให้กลมกลืนกันเพื่อให้อนุชนเห็นความสำคัญทั้งนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่ และที่เป็นภาวะทางจิตใจ เพราะนรกและสวรรค์ทั้ง ๒ สถานะ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา มีความสำคัญในฐานะเป็นปริยัติสัทธรรม แม้ว่านรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่อยู่อาศัย จะไม่สามารถนำมาพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ชัดได้ แต่เมื่อนำทฤษฎีโลก ๓ ทฤษฎีปรโลก ทฤษฎีกำเนิด ๔ ทฤษฎีเทพ ๓ และทฤษฎีอภิญญา ๖ มาศึกษาประกอบแล้ว ทำให้สามารถยืนยันได้อย่างสมเหตุสมผลว่า นรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่ในชาติหน้ามีอยู่จริงในฐานะเป็นองค์ประกอบของสังสารวัฎ

Download : 253301.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕