หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาพีรพงษ์ ปญฺญาโภ (จำปาใด)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๗ ครั้ง
วิเคราะห์พุทธจริยธรรมที่ปรากฏในกวีนิพนธ์ : ศึกษาเฉพาะกรณีกวีนิพนธ์รางวัลซีไรท์ (ประเทศไทย) (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาพีรพงษ์ ปญฺญาโภ (จำปาใด) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีรัตนดิลก
  นายสมชัย ศรีนอก
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์เล่มนี้ ผู้วิจัยมีความมุ่งหมายศึกษาและวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมของพระพุทธศาสนาในกวีนิพนธ์รางวัลซีไรท์ แนวคิดเพื่อคุณค่าและประโยชน์รวมถึงบทบาทสำคัญของกวีนิพนธ์ต่อการปลูกจิตสำนึกการพัฒนาชีวิตและสังคมไทย

     กวีนิพนธ์รางวัลซีไรท์ถูกบ่มเพาะขึ้นจากธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางชีวิตและสังคมของมนุษย์ มีแนวคิดเพื่อสร้างสรรค์พลังทางปัญญาอันจะนำไปสู่การก่อเกิดคุณค่าและความดีงามโดยมีแนวความคิดและจินตนาการตามแบบวัฒนธรรมหรือจริยธรรมตะวันออกซึ่งอาจผสมผสานกับแนวคิดแบบตะวันตกอยู่บ้าง เพื่อให้มีพลังพอที่จะกระตุ้นหรือโน้มน้าวจิตใจของมนุษย์ให้สำนึกและกลับคืนสู่ธรรมชาติแห่งของความเป็นจริง (จริยธรรม) ในทางกลับกันก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพแห่งความดีที่มีอยู่ในตัวมนุษย์เองให้เพิ่มมากขึ้นไปอีกอันจะส่งผลสู่การเพิ่มสันติสุขสู่สังคมโลกต่อไป

     มนษย์มักหลงลืมความถูกต้องแท้จริงอยู่เสมอเมื่อขาดสติยับยั้งและการรู้เท่าทันอำนาจหรือพลังของกิเลสตัณหา หลักจริยธรรมจึงเสื่อมหายไปทีละเล็กละน้อยอย่างไม่ต้องสงสัย กวีนิพนธ์ซีไรท์คือวรรณกรรมที่รวบรวมและประมวลความสูญเสียสมดุลแห่งจริยธรรมทั้งหลายในสังคมเพื่อแสวงหาและชี้ทางออกของปัญหา หากมนุษย์สำรวม๖นอยู่ในกรอบของจริยธรรมดีแล้ว กวีนิพนธ์ก็คือพลังความดีงามที่จะคอยส่งเสริมป้องกันและคุ้มครองผู้ปฏิบัติดีนั้นให้ดำเนินไปถึงจุดหมายสูงสุดได้ นี่คือความมหัศจรรย์ของธรรมะในทางพระพุทธศาสนาที่แทรกซึมอยู่ในบทกวีโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจแต่คนมีคุณธรรมโดยธรรมชาติก็ย่อมเปล่งแสงแห่งคุณธรรมอยู่เสมอ

     ความอยู่รอดของโลกขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของจิตมนุษย์จากการถูกย่ำยีและเบียดเบียนของความชั่วร้ายทั้งหลาย งานสร้างมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ยากกว่างานใดๆ จิตใจดีงามไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือทำให้เกิดได้ง่ายๆ บทสะท้อนจากกวีนิพนธ์ซีไรท์บอกถึงปริมาณไม่ได้ว่าสร้างจิตสำนึกความร่มเย็นดีงามให้กับมนุษย์ได้มากน้อยเพียงไร เปรียบเหมือนการทอแสงของดวงอาทิตย์ยามเช้ามนุษย์แทบจะไม่รู้สึกถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของการเริ่มต้นแห่งแสงสว่างที่จะยังโลกให้สว่างไสวและขจัดความมืดออกไปในขณะเดียวกัน แม้ผู้ที่รู้และเข้าใจถึงการปลูกจิตสำนึกของกวีก็ไม่อาจที่จะปฏิเสธถึงพลังและอิทธิพลของการสร้างสรรค์ของบทกวีได้ จึงไม่แปลกว่าทำไมกวีแม้เพียงบทเดียวจึงยังคงความเป็นอมตะคู่กับโลกมาตลอดได้

     เป็นการยากที่จะบอกถึงพลังปัญญาในกวีนิพนธ์ซีไรท์หรือกวีนิพนธ์ใดๆ ก็ตามว่ามากน้อยเพียงใด ก็ในเมื่อบุคคลไม่อาจซึมซับความดีที่มีอยู่ทั่วๆ ไปโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นวรรณกรรมหรืองานประเภทใด จริยธรรมและคุณธรรมก็ไม่อาจที่จะเกิดขึ้นในจิตใจของผู้นั้นได้แม้ว่าสิ่งนั้นๆ จะประเสริฐเพียงใดก็ตาม

Download : 254605.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕