หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุญไทย ยโสธโร (ภูมะลา)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๙ ครั้ง
การศึกษาการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพวงศาจารย์
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุญไทย ยโสธโร (ภูมะลา) ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ, ผศ.ดร. ป.ธ.๓, พธ.บ., พธ.ม.(ปรัชญา),
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี ป.ธ.๘, พธ.บ., พธ.ม. (ธรรมนิเทศ)
  รศ.บำรุง สุขพรรณ์ ว.บ. (วารสารศาสตร์), สส.ม. (สังคมสงเคราะห์),
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

                  การศึกษาการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพวงศาจารย์ (คูณ ขนฺติโก)                 มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีการสื่อสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (๒) เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพวงศาจารย์ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความสอดคล้องของรูปแบบและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพวงศาจารย์

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสารแบบคุณภาพ (Qualitative Research) โดยลงภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อต้องการทราบรูปแบบและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพวงศาจารย์ และหาความสอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฎีการสื่อสาร ผลการศึกษาวิจัยพบว่า

              รูปแบบการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพวงศาจารย์ (คูณ ขนฺติโก) มีความสอดคล้องกับการเผยแผ่พุทธธรรมในปัจจุบันนี้ คือ ท่านเป็นสื่อบุคคลที่มีความชำนาญในการเผยแผ่พุทธธรรม ได้ประยุกต์เนื้อหาสาระที่เข้าใจยากและไม่เป็นที่สนใจทำให้มีเนื้อหาสาระที่เข้าใจง่าย และเป็นที่น่าสนใจ ท่านเป็นพระนักเทศน์แนวประยุกต์ผสมผสานหลักธรรมที่มุ่งเหตุการณ์ปัจจุบันทันสมัย ทันโลก ลีลาการเทศน์แพรวพราว สามารถสะกดใจผู้ฟังด้วยน้ำเสียงนุ่มลึก ไพเราะเกาะกินใจ นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นในการเทศน์มหาชาติ เพราะท่านได้รับนิมนต์ไปบรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม และเทศน์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ     ทั่วประเทศ และต่างประเทศ ท่านจึงเป็นที่รู้จักมักคุ้นของบุคคลทั่วไปในนามว่า  เป็นพระเทศน์ดี เทศน์ได้ เทศน์เป็น เป็นต้น

                  วิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพวงศาจารย์ (คูณ ขนฺติโก) มีความสอดคล้องกับวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะท่านมีวิธีการ และหลักปฏิบัติแตกต่างกันไปตามกาลเทศะและบุคคลที่จะสั่งสอน การสอนหรือการถ่ายทอดความรู้ทุกเรื่อง เพื่อดึงดูดให้ผู้เรียนมีความสนใจได้ วิธีการสอนของท่านดังต่อไปนี้ คือ การยกอุทาหรณ์ ตัวอย่างเช่น สอนเรื่องความเสียหายอันเกิดจากความไม่สามัคคี โดยยกตัวอย่างเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเป็นต้น         การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา เช่นครั้งพระพุทธเจ้าตรัสสอนเมณฑกเศรษฐีว่า โทษของคนอื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยากเป็นต้น และการใช้อุปกรณ์การสอน ตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าได้หยิบใบประดู่ลายมาเล็กน้อยแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ป่ากับพระหัตถ์ของพระองค์ที่ไหนมากกว่ากันเป็นต้น

              สำหรับการสื่อสารทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านผู้ส่งสาร (Source) ท่านสามารถเป็นสื่อบุคคลที่สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารการจัดการวัด (๒) ด้านสาร (Message)  ของท่าน ซึ่งเป็นหลักธรรมทางพุทธศาสนามีเนื้อหาส่งเสริมให้กำลังใจแก่พุทธบริษัท เช่น พระภิกษุสามเณร เป็นต้น สามารถประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในหลักธรรม ทั้งมีข้อมูลความรู้ทางโลกและทางธรรม (๓) ด้านสื่อ (Channel) ซึ่งเป็นช่องทางที่ท่านใช้สื่อหลักธรรมด้านต่างๆ สามารถสร้างความศรัทธาหรือความน่าเชื่อถือ รวดเร็ว ง่าย เหมาะกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น         และ(๔) ด้านผู้รับสาร (Receiver) บุคคลหรือคณะบุคคลที่รับสารหรือเนื้อหาธรรมจากท่าน สามารถเข้าถึงเนื้อหาของสารหรือธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕