หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมานะ ธมฺมกุสโล (ศรีสุทธิ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมานะ ธมฺมกุสโล (ศรีสุทธิ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
  พระมหาไสว เทวปุญฺโญ
  ดร.สมหวัง แก้วสุฟอง
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านการอุปถัมภ์บำรุงการสร้างศาสนทายาท การรักษาพระสัทธรรม การรักษาพิธีกรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสนับสนุนการจัดการสร้างพระไตรปิฎกรวมถึงการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนาสถาน ผลการวิจัยพบว่า

     พระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ไทยต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกันมาด้วยดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ทรงรับพระราชภารกิจที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของพสกนิกร จึงก่อคุณประโยชน์ต่อประเทศชาตินานับประการจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีวิธีในการทำนุบำนุงพระพุทธศาสนาที่ลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างจากพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆ เพราะว่าพระองค์ทรงมีพื้นฐานความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นระหว่างทรงผนวชอยู่นานถึง ๒๗ พรรษาและไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกระหว่างคณะสงฆ์ที่มีอยู่หบายนิกายโดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย พระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่สำคัญๆ มีสองประการคือ

     ประการแรก บทบาทในฐานะพระภิกษุ ทรงให้การส่งเสริมแก่ธรรมยุติกนิกายอย่างมากทั้งการรักษาพระสัทธรรมและการรักษาศาสนทายาท ตลอดจนการสร้างคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายให้มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากคณะสงฆ์มหานิกาย ทั้งด้านวัตรปฏิบัติ ความเชื่อส่วนบุคคล การศึกษาพระปริยัติธรรมและการเผยแพร่หลักธรรมสู่ประชาชน รวมถึงในต่างประเทศ จากบทบาทดังกล่าวจึงทำให้ทั้งพระองค์และคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้ก้าวขึ้นมาสู่การมีความสำคัญทางพุทธศาสนามากขึ้นตามลำดับในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมีจำนวนพระสงฆ์และวัดน้อยมากก็ตาม แต่ก็เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มชนหลายๆ กลุ่มด้วยดี และมีส่วนอย่างมากที่ผลักดันให้พระองค์มีโอกาสในการขึ้นครองราชย์

     ประการที่สอง บทบาทในฐานะพระมหากษัตริย์ ทรงเลือกที่จะนำธรรมยุติกนิกายมาเป็นแกนนำในการทำนุบำรุงแต่ยังทรงให้ความสำคัญกับคณะสงฆ์นิกายอื่นๆ อยู่ โดทยทรงทำการอุปถัมภ์และสนับสนุนคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายซึ่งเป็นคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางและมีจำนวนทั้งวัดและพระภิกษุ สามเณรเป็นจำนวนมากให้เท่าเทียมกับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายด้านอุปถัมภ์บำรุง การสร้างศาสนทายาท การรักษาพระสัทธรรม การรักษาพิธีกรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสนับสนุนการจัดสร้างพระไตรปิฎก รวมถึงการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน จากบทบาทดังกล่าวจึงทำให้พระองค์ต้องดำรงบทบาทในฐานะผู้นำทางอาณาจักรและพุทธจักรควบคู่กันไปตลอดรัชสมัยของพระองค์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มิได้กระทบการเทือนถึงความเชื่อในเรื่องธรรมราชาของพระองค์เลยกลับส่งผลให้ทรงได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ และสามารถควบคุมคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติ

     บทบาททั้งสองประการดังกล่าวได้เป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมให้พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระองค์และสมัยต่อมามีความเจริญก้าวหน้าและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันสงฆ์อีกหลายประการในช่วงเวลาต่อมา โดยเฉพาะบทบาทของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายและมหานิกายได้เข้าไปวางรากฐานสำคัญให้กิจการต่างๆ ทางด้านอาณาจักรเจริญรุ่งเรืองสืบมา


 

Download : 254610.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕