หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวิชัย กิตฺติวณฺโณ (เสาพะเนา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
การศึกษาเรื่องมารในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวิชัย กิตฺติวณฺโณ (เสาพะเนา) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาเสรี พุทฺธรกฺขิโต
  สมบูรณ์ ตันยะ
  ประพันธ์ ศุภษร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                      วิทยานิพนธ์เล่มนี้  มีวัตถุประสงค์การวิจัย ๓ ประการคือ  (๑) เพื่อศึกษามารในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท(๒)เพื่อศึกษาบทบาทของมารในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากมารในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  โดยศึกษาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา หนังสือ  ตำราที่เกี่ยวข้อง  ผลการศึกษามารในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทพบว่า  

                      มารในพระวินัยปิฎกมีลักษณะเป็นนามธรรมที่มีความเด็ดขาดรุนแรงด้วยจะให้สัตว์ตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของตนและผลักดันให้ประกอบในอกุศลกรรมมารในพระสุตตันตปิฎกมีลักษณะเป็นรูปธรรมมีตัวตนดำเนินด้วยเรื่องราวและกลวิธีที่ลึกลับซับซ้อนด้วยเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงล่อหลอกด้วยกลอุบายให้เกิดความไขว้เขวสับสนในพฤติกรรมตามจริตอัธยาศัยของแต่ละบุคคลซึ่งจะปรากฏเป็นเทวดาคนสัตว์มารในพระอภิธรรมปิฎกมีลักษณะเป็นนามธรรม  มีความละเอียดลึกซึ้งทำให้เข้าใจผิดมี ๕ ประเภทคือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร และมัจจุมาร

                      บทบาทของมารในพระไตรปิฎกที่ปรากฏอย่างชัดเจนคือ  กิเลสมาร เหนี่ยวรั้งขัดขวางไม่ให้ทำความดี  และกระตุ้นหรือผลักดันให้สัตว์ประกอบกรรมชั่ว  ขันธมารปิดบังความจริงล่อหลอกให้ลุ่มหลงอยู่ในความประมาท  บีบคั้นเบียดเบียนด้วยอาพาธเป็นต้น  อภิสังขารมาร เข้าปรุงแต่งจิตให้คิดพูดทำกรรมหนักเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุธรรม  ปรุงแต่งจิตให้หลงผิดและยึดติดในธรรม  เทวบุตรมาร ห้ามปรามขัดขวางการทำความดีโดยเฉพาะในการปฏิบัติธรรมและทำลายจิตไม่ให้เกิดสมาธิให้หวาดหวั่นสะดุ้งกลัว  ด้วยนิมิตหรือเครื่องหมายอันประหลาด  มัจจุมารด้วยเข้ามาทำลายชีวิตให้มนุษย์หวาดกลัว  และตัดโอกาสการทำความดีหรือบรรลุธรรม

                การปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากมารทั้ง ๕ คือ  (๑) กิเลสมาร ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ  สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ  สัมมาวาจา เจรจาชอบ  สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ  สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ  สัมมาวายามะ พยายามชอบ  สัมมาสติ ระลึกชอบ  สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ  (๒) ขันธมารด้วยการพิจารณาเบญจขันธ์โดยความเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  (๓) อภิสังขารมาร ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์มีรักษาศีล  เจริญจิตตภาวนา  ทำปัญญาให้แจ่มแจ้ง  (๔) เทวบุตรมาร ด้วยปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ๑๐  คือ  สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน  วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย  สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต  กามฉันทะ ความพอใจในกาม  พยาบาท ความคิดร้าย  รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน  อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน  มานะ ความถือตัว  อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน  อวิชชา ความไม่รู้แจ้ง  (๕) มัจจุมาร ด้วยพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ด้วยการกำหนดเห็นสังขารว่าไม่เป็นไปตามอำนาจ  และด้วยการพิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นของว่างเปล่า

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕