หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมยศ อาภายุตฺโต (เสนานุช)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๙ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิม) ในพระพุทธศาสนามหายาน (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมยศ อาภายุตฺโต (เสนานุช) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ)
  ผศ.ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา
  ดร.จันทรัชนันท์ สิงหทัด เนตรนิมิตร
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องพระอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนามหายาน ซึ่งปรากฏในคัมภีร์มหายานอินเดียและจีน การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาพัฒนาการของหลักคำสอนเรื่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่เป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกพระพุทธศาสนา ศึกษาแนวทางปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับหลักคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนาและศึกษาถึงความเชื่อและการตั้งความปรารถนาของเหล่าพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาในพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าวกับพระพุทธปรัชญา

     จากการศึกษาพบว่า แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนามหายานนี้มีพัฒนาการมาจากปัจจัยที่สำคัญหลายประการดังต่อไปนี้ : มาจากพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมพระพุทธศาสนาเอง อิทธิพลของศาสนาฮินดูที่แทรกซึมปะปนเข้ามา อิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรมเปอร์เซียรวมตลอดถึงอิทธิพลของศิลปกรรมกรีกโบราณด้วย

     พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นตัวแทนของการแสดงคุณลักษณะของมหากรุณา ซึ่งหมายถึงความกรุณาอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อมหาชน แนวความคิดนี้ไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์กับปฌิธานและปฏิปทาที่จะบรรลุพุทธภาวะดังที่เราทราบกับเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับหลักคำสอนสำคัญในเรื่องศูนยตาธรรมด้วย ความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา หลักศูนยตาธรรมเป็นการอธิบายสภาวธรรมในลักษณะที่เป็นนามธรรม ส่วนปฏิปทาของพระโพธิสัตว์อันเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาและความเสียสละที่เป็นผลมาจากการประพฤติปฏิบัติจริง เป็นสิ่งทำให้คำสอนที่เป็นนามธรรมแสดงออกมาให้ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งกิจทั้งปวงของพระโพธิสัตว์นี้เป็นการกระทำโดยปราศจากความยึดมั่นในอัตตาแล้วโดยสิ้นเชิง แนวทางนี้เองเป็นการยืยยันว่าหลักธรรมดังกล่าวในพระพุทธศาสนามหายานสามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยปรากฏเป็นผลที่เป็นจริง

     พิธีกรรมและการสักการะบูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มีพื้นฐานมาจากพุทธปรัชญาและความศรัทธาเป็นหลัก ทั้งสองแนวทางนี้มีความเกี่ยวข้องกับความนับถือในลักษณะที่เป็นอเทวนิยมและเทวนิยม ลัทธิภักติในแนวคิดฮินดูซึ่งเป็นการจงรักภักดีต่อเทพเจ้านั้นได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อในมหายานยุคปลาย ดังนั้นจึงส่งผลให้ความศรัทธามีบทบาทโดดเดนในเรื่องพิธีกรรมและการสักการะบูชา

     พุทธศาสนิกชนชาวจีนเคารพนับถือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มานานแล้วดังปรากฏในบันทึกการเดินทางของพระถังซัมจั๋งในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แนวคิดเรื่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในจีนสืบทอดมาจากแนวคิดของมหายานยุคปลาย ลัทธิในศาสนาฮินดู และวัฒนธรรมท้องถิ่นของจีนที่ผสมปนเปเข้ามา พุทธศาสนิกชนชาวจีนมีความนับถือพระอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์หรือพระกวนอิมในฐานะที่เป็นเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง รวมถึงความเชื่อในเรื่องการอวตารปางต่างๆ ด้วย ความเชื่อดังกล่าวมีน้ำหนักมากกว่าที่จะนับถือในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้มุ่งมั่นที่จะบรรลุโพธิปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เป็นเช่นเดียวกับความเชื่อในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยบางกลุ่ม

     แม้ว่าหลักคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์มหายานและบทสวดมนต์เพื่อบูชาพระโพธิสัตว์ดังกล่าวจะมีความมุ่งหมายที่จะน้อมนำให้พุทธศาสนิกชนนำไปปฏิบัติตามแนวทางของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในด้านของการประพฤติปฏิบัติและด้านความเมตตา ความเสียสละเพื่อที่จะก้าวสู่ความหลุดพ้น แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ความเชื่อในเรื่องอิทธิปาฏิหารย์กลับมีบทบาทและมีอิทธิพลเหนือกว่าความสนใจในด้านปฏิบัติและความเข้าใจพุทธปรัชญา

Download : 254612.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕