หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระชินาธิ ชินวโร (เพชรพิทักษ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
การบำเพ็ญศีลบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาทกรณีศึกษาพระภูริทัตตชาดก
ชื่อผู้วิจัย : พระชินาธิ ชินวโร (เพชรพิทักษ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี, ผศ.ดร. ป.ธ.๙,กศ.ม,พธ.ด.
  ศ.(พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อ.บ.,M.A., Ph.D.
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร ป.ธ.๖., ศษ.บ., พธ.บ.,กศ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

      วิทยานิพนธ์ฉบับนี้  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ  ๑)  เพื่อศึกษาศีลในพระพุทธศาสนาเถรวาท   ๒) เพื่อศึกษาศีลบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท    ๓) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญศีลบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท  :  กรณีศึกษาภูริทัตชาดก

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary  Research) โดยได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร  คือคัมภีร์พระไตรปิฎก  ตลอดจนเอกสาร  ตำราวิชาการ  ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วประมวลข้อมูลโดยนำมาศึกษาวิเคราะห์ ด้วยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา  และนำเสนอสรุปการวิจัยด้วยวิธีนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า 

๑)  ศีลเป็นหลักประพฤติทางกาย  วาจา  และการเลี้ยงชีพสุจริต โดยมีเจตนาเป็นเครื่อง

ประพฤติที่ทำให้งดเว้นจากทุจริต  เพื่ออบรมจิตใจให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย  ศีลเมื่อประพฤติปฏิบัติถูกต้องตรงตามหลักการทั้งหลาย  สภาพจิตใจก็จะเป็นอิสระจากตัณหาทั้งหลาย  ประโยชน์ที่ได้จากศีลคือ การควบคุมความประพฤติ  ป้องกันไม่ให้ตกไปสู่ความชั่ว  จิตใจสงบจากกิเลสเป็นสมาธิ   มีปัญญาที่เกื้อกูลแก่การกำจัดอวิชชา  และเป็นบาทฐานแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น  ดังนั้นจึงควรนำศีลมาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วยความไม่ประมาท

๒)  ศีลบารมี    คือการบำเพ็ญศีลให้ยิ่งยวดขึ้นไปอีกศีลบารมี  ในพระไตรปิฎก  ได้ให้

ความหมายหนึ่งคือ เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม อีกความหมายหนึ่งคือ เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดคือหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์    ลำดับขั้นของบารมีคือ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี  ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์  เมื่อเริ่มต้นได้รับการพยากรจากพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน คือ สี่อสงไขยแสนกัป ความเต็มเปี่ยมของบารมีนั้น ยังมีขอบเขตในแต่ละการบรรลุธรรมด้วย  กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องมีความเต็มเปี่ยมของบารมีในขอบเขตที่มากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าและลดหลั่นลงมาตามลำดับจนถึงระดับอริยบุคคลคือ พระโสดาบัน

      ๓)  พระภูริทัตได้บำเพ็ญบารมีซึ่งเป็นของพุทธการกธรรม   เป็นธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า  โดยจะต้องบำเพ็ญศีลให้มั่นคงดุจจามรีที่ต้องรักษาขนหางของตน      และต้องบำเพ็ญศีลในภูมิทั้ง     อันได้แก่   

ปาฏิโมกขสังวรศีล,   อินทรียสังวรศีล,  อาชีวสังวรศีล,  และปัจเจเวกขณศีลให้สมบูรณ์อีกด้วย    โดยหากเมื่อพิจารณาตามสิ่งที่พระภูริทัตได้ประกาศที่จะสละได้แก่  ผิวก็ดี  หนังก็ดี   เอ็นก็ดี  กระดูกก็ดี  ซึ่งเป็นอวัยวะแล้ว  ลำดับขั้นของการบำเพ็ญศีลบารมีของพระภูริทัต     จึงเป็นศีลอุปบารมี  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อไปเกิดในสวรรค์  ศีลนั้นยังเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ  เพื่อให้บรรลุถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ   ประโยชน์และคุณค่าของการรักษาศีลของพระภูริทัตนั้น   เป็นธรรมที่จะต้องบำเพ็ญเพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณทำให้เกิดการอุบัติขึ้นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีนามว่าโคคม   

        ศีลบารมีในภูริทัตชาดกนั้นไม่ว่าจะเป็นหลักไตรสิกขา  หลักอริยทรัพย์    เป็นต้นที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้ทุกเมื่อ  ไม่ว่าจะเป็นในด้านสังคม  การเมือง  เศรษฐกิจ ทุกด้าน  ล้วนแล้วแต่มีศีลเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น  จึงทำให้เกิดมีหลักธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้ เพราะถ้าสังคมใดขาดศีลแล้วย่อหาความสงบสุขได้ยาก

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕