หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ (มือแป)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ (มือแป) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  รศ.ดร.จินดา จันทร์แก้ว
  ดร.สุรพล สุยะพรหม
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ เมษายน ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์นี้ประสงค์ที่จะศึกษาทัศนะเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาเถรวาทและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะหาข้อสรุปเกี่ยวกับจุดยืนในการกระทำที่เป็นเสรีภาพ ทั้งในแง่วิธีการ
และจุดหมายที่เป็นเสรีภาพ เป็นการตอบปัญหาให้แก่ตัวเองและสังคมที่กำลังเรียกร้องต้องการเสรีภาพ เมื่อเป็นเช่นนั้นทัศนะแนวความคิดเรื่องเสรีภาพของพุทธปรัชญาเถรวาทจะมี
อยู่บ้างหรือไม่ และถ้ามีจะให้คำตอบว่าอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าศึกษา
     บทที่ ๑ กล่าวถึงความสำคัญและความเป็นมาของปัญหาที่จะต้องนำมาศึกษา
     บทที่ ๒ กล่าวถึงความหมายทั่วไปของเสรีภาพตามทัศนะของนักคิดนักปรัชญาต่างๆ ว่าท่านมีทัศนะอย่างไรและมีขอบเขตการใช้เสรีภาพอย่างไร นำเอามาวิเคราะห์ทำความเข้าใจ
     บทที่ ๓ กล่าวถึงแนวความคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาเถรวาทที่มีอยู่ในพระไตรปิฏกมาวิเคราะห์ตีความจากตัวอย่างบุคคล ตัวอย่างหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง
     บทที่ ๔ กล่าวถึงลักษณะการใช้เสรีภาพในพุทธศาสนา วิธีการสร้างให้มีเสรีภาพตามหลักพุทธศาสนา เปรียบเทียบการใช้เสรีภาพในพุทธศาสนากับประชาธิปไตย และการใช้เสรีภาพในบริบทของสังคมไทย
     บทที่ ๕ กล่าวถึงบทสรุปที่ได้ศึกษาวิจัยมาทั้งหมดพร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการนำปัญหาที่ยังไม่ได้ศึกษาไปค้นคว้าต่อไป
     จากการศึกษาวิจัยมาทั้งหมดผู้วิจัยได้พบข้อสรุปอันเป็นประโยชน์ เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในทัศนะของพุทธปรัชญา ดังนี้
     ๑. คำว่าเสรีภาพในทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทมีความหมายอยู่ ๒ นัยแรก หมายถึงวิธีการคือการกระทำ ทำได้ตามที่ต้องการไม่มีอุปสรรคขัดขวาง มีความเป็นใหญ่ในตัวเอง
เป็นตัวของตัวเองสามารถเลือกวิถีชีวิตได้ด้วยตัวเอง ไม่มีอำนาจอื่นใดมาบังคับ นัยที่สองหมายถึงเสรีภาพที่เป็นจุดหมายเป็นผลของการปฏิบัติ ทำให้มีความสุขได้รับเสรีภาพ ๔ ด้าน คือ ๑) เสรีภาพทางกาย ได้แก่การไม่ถูกบีบคั้นจากการขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ๒) เสรีภาพทางสังคม ได้แก่การไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคม
ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่อยู่ท่ามกลางความรุนแรง การก่อการร้าย และภัยสงคราม ๓) เสรีภาพทางอารมณ์ หรือทางจิต ได้แก่ การไม่ถูกอำนาจกิเลสครอบงำ การมีคุณภาพจิตดี
เช่นมีความเมตตากรุณา มีสุขภาพจิตดีสดชื่นแจ่มใส ๔) เสรีภาพทางปัญญา ได้แก่การไม่ถูกบีบคั้นจากความไม่รู้ มีความรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของผู้บรรลุธรรม
     ๒. การใช้เสรีภาพในพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นการใช้เสรีภาพที่มีขอบเขตอันประกอบด้วยปัญญา ไม่ล่วงละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่น เป็นการใช้เสรีภาพที่เป็นการพัฒนาตัวเองมากกว่าที่จะร้องทุกข์จากบุคคลอื่น เป็นการใช้เสรีภาพในทางสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะคิดจะพูดจะทำสิ่งใด ต้องคิดถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายคือความหลุดพ้นปัญหาทางกาย ทางจิต ทางปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อสนองกิเลสของตนเอง
     ๓. เมื่อนำไปเปรียบเทียบการใช้เสรีภาพในพุทธปรัชญาเถรวาท การใช้เสรีภาพในพระพุทธศาสนากับประชาธิปไตยในส่วนที่ว่าด้วย สิทธิ หน้าที่ อิสรภาพ และความเสมอภาค
มีความแตกต่างกันบ้าง คือ ประชาธิปไตยเน้นเรื่องสิทธิมากกว่าหน้าที่ ในพระพุทธศาสนาเน้นหน้าที่มากกว่าสิทธิ ในส่วนที่ว่าด้วยอิสรภาพความเสมอภาพประชาธิปไตยเน้นเรื่องอิสรภาพความเสมอภาพในการไม่ถูกแทรกแซงจากผู้อื่นมีประเทศเป็นเอกราช มีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ในพระพุทธศาสนาเน้นอิสรภาพที่หลุดพ้นจากกิเลสภายในมากกว่าการสร้างให้มีเสรีภาพ ในพระพุทธศาสนาสร้างได้ด้วยดารปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ส่วนในประชาธิปไตยสร้างได้ด้วยการปฏิบัติตามระเบียบตัวบทกฎหมาย
 

Download : 254615.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕