หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวินัยธรประสิทธิ์ สุจิณฺโณ (คำมาก)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๕ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ดิรัจฉานวิชาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระวินัยธรประสิทธิ์ สุจิณฺโณ (คำมาก) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี ดร. ป.ธ. ๙, พธ.บ., ศษ.บ., อ.ม., กศ.ด.
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร ป.ธ.๕, น.ธ.เอก, พธ.บ., รป.ม.
  ผศ.ดร. วรกฤต เถื่อนช้าง
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ) เพื่อศึกษาความหมายแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับดิรัจฉานวิชาที่ปรากฏในศาสตร์อื่น  ๒) เพื่อศึกษาดิรัจฉานวิชาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  ๓) เพื่อศึกษาการปรับแนวคิดเกี่ยวกับดิรัจฉานวิชาให้สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำมาวิเคราะห์สรุปข้อมูลในเชิงพรรณนา

จากการศึกษาความเป็นมาของดิรัจฉานวิชา หรือวิชาที่ว่าด้วยเรื่อง การพยากรณ์ การทำนายทายทัก การดูดวง ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการใช้หลักโหราศาสตร์ ผลการวิจัยพบว่า ดิรัจฉานวิชานี้มีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลที่ได้มีการนำวิชาต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ในการทำนายทายทัก การทายลักษณะ เป็นต้น แม้ครั้งพุทธกาลเองก็ยังมีวิชาดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในสังคมของคนในสมัยนั้น ในขณะเดียวกันในทางพระพุทธศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้พระสาวกศึกษาและเรียนวิชาเหล่านี้ เพราะไม่ใช่หนทางทีทำให้พ้นทุกข์ได้

หลักคำสอนเกี่ยวกับดิรัจฉานวิชาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จากการศึกษาวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า หลักคำสอนเกี่ยวกับดิรัจฉานวิชาได้มีปรากฏมาแล้วตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล ดังที่ผู้วิจัยได้นำเสนอไว้แล้วในเบื้องต้นนั้น โดยยกพระสูตรต่าง ๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสมัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนเหล่าพระสาวกเกี่ยวกับเรื่อง ดิรัจฉานวิชา ว่าเป็นวิชาที่ขวางต่อทางพระนิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงห้ามมิให้พระภิกษุเรียนเพราะทรงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติธรรม

ส่วนการปรับแนวคิดเกี่ยวกับดิรัจฉานวิชาให้สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ผลจากการวิจัยพบว่า ดิรัจฉานวิชา ถึงจะเป็นวิชาที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้พระภิกษุและพุทธบริษัทเรียนเพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้านำวิชาดังกล่าวนั้นมาใช้ในทางที่ถูกต้อง ก็จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน โดยมุ่งเน้นที่ผู้รับบริการกับผู้ให้บริการ  

ผู้รับบริการ ชาวบ้านทั่วไปที่ชื่นชอบการดูดวง ควรจะหันมาศึกษาหลักพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการสร้างชีวิต หรือบำเพ็ญเพียรตามหลักพระพุทธศาสนา ควรจะมองว่า โหราศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือส่งเสริมกำลังใจในการสร้างชีวิตในกรณีที่โหราจารย์ทำนายไปในทางที่ดีสำหรับชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าโหราจารย์ทำนายในลักษณะจะเป็นไปในทางทีไม่ดีสำหรับชีวิต ก็ควรจะมองว่า นั่นคือบุคคลที่คอยชี้ทางชีวิตให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับหลักอัปปมาทธรรม

                  ผู้ให้บริการ บุคคลกลุ่มนี้ควรจะเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นว่าชีวิตจะดีขึ้นหรือเลวร้ายลง  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดวงชะตาเพียงอย่างเดียว แต่หากขึ้นอยู่กับสาเหตุที่สำคัญคือการกระทำของมนุษย์นั้นๆ ไม่ควรใช้โหราศาสตร์เป็นเครื่องมือในการหาลาภสักการะเพียงอย่างเดียว ควรสอดแทรกหลักของการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หรือแนวคิดเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนาให้ชาวบ้านด้วย การที่มนุษย์จะทำให้ชีวิต สังคมและชุมชนดีขึ้นนั้น ก็ด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสัมมาวายามะ ซึ่งก็คือการกระทำหรือกฎแห่งกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับโชคชะตา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕