หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวงศ์แก้ว วราโภ (เกษร)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๔ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบการปฏิบัติกรรมฐานของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) กับ พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)
ชื่อผู้วิจัย : พระวงศ์แก้ว วราโภ (เกษร) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร. ป.ธ. ๖, พธ.บ.(ภาษาไทย),M.A. (Ling), M.A., Ph.D. (Pali& Bud).
  ผศ.ดร.โสวิทย์บำรุงภักดิ์ ป.ธ.๗,พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Bud.), พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  ดร.ประยูร แสงใส, ป.ธ. ๔, พ.ม., พธ.บ., P.G. Dip. InJournalism., M.A. (Ed), Ph.D. (Ed).
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง  การศึกษาเปรียบเทียบการปฏิบัติกรรมฐานของพระโพธิญาณเถร                     (ชา  สุภทฺโท) กับ พระธรรมวิสุทธิมงคล  (บัว ญาณสมฺปนฺโน) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางรูปแบบและวิธีการปฏิบัติกรรมฐานของพระโพธิญาณเถร (ชาสุภทฺโท) เพื่อศึกษาแนวทางรูปแบบและวิธีการปฏิบัติกรรมฐานของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวทางรูปแบบการปฏิบัติกรรมฐานของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)  กับพระธรรมวิสุทธิมงคล                           (บัว  ญาณสมฺปนฺโน)

ผลการศึกษาพบว่า พระโพธิญาณเถรให้ความสำคัญต่อการรักษาศีลาจารวัตรมาก เพราะศีลหรือพระวินัยเป็นวิถีสร้างชุมชนสงฆ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อย อีกทั้งยังส่งเสริมการปฏิบัติกรรมฐานด้วย ท่านปฏิบัติโดยการบริกรรมว่า “พุทโธ” มีลักษณะเป็นอานาปานสติ เพราะไม่ทิ้งสติในการปฏิบัติ ท่านปฏิบัติธรรมแบบไม่แบ่งแยกประเภทธรรม เป็นการปฏิบัติแบบเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กัน หรืออาจกล่าวได้ว่าใช้สติพัฒนาสมาธิให้ก้าวไปสู่ปัญญา ส่วนพระธรรมวิสุทธิมงคลมีทัศนะต่อวินัยว่า พระวินัยเปรียบเหมือนรั้วกั้นไม่ให้ข้ามเข้าไปข้างในได้ง่าย ส่วนพระธรรมเป็นทางปฏิบัติสายกลางในการปฏิบัติ

เมื่อนำแนวคำสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกัน เพราะท่านทั้งสองถือปฏิบัติตามสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แม้การปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน วิธีการปฏิบัติในอิริยาบถยืนของหลวงพ่อชามีลักษณะเป็นอานาปานสติ คือมีสติกำหนดลมหายใจในอิริยาบถยืน ส่วนวิธีการของหลวงตามหาบัวมีลักษณะเหมือนกายคตาสติในอิริยาบถยืน

วิธีการเดินจงกรมของท่านที่เหมือนกันคือกำหนดกายคือกิริยาเดินหรือกำหนดพิจารณาบทธรรมก็ได้ แต่วิธีของพระธรรมวิสุทธิมงคลมีความเป็นทางการกว่าในเชิงธรรมเนียมปฏิบัติ คือมีการประนมมือระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยและผู้มีพระคุณก่อน พระธรรมวิสุทธิมงคล มีการกล่าวถึงการปฏิบัติในอิริยาบถนอนด้วย แต่ไม่ได้ส่งเสริมการปฏิบัติในอิริยาบถนี้ เพราะเป็นเหตุแห่งความเกียจคร้าน ส่วนพระโพธิญาณเถร ห้ามปฏิบัติในอิริยาบถนอน

ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาในการปฏิบัติ พบว่า พระโพธิญาณเถร ท่านสอนเกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติในระดับพื้นฐานคือการกำหนดลมหายใจและความง่วง โดยเฉพาะความง่วงนั้นท่านสอนให้แก้ไขด้วยการปรับอินทรีย์ส่วนพระธรรมวิสุทธิมงคล สอนถึงปัญหาและวิธีแก้ปัญหาทั้งในระดับพื้นฐานและระดับสูง เช่น วิปัสสนูปกิเลส เป็นต้น ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการพิจารณาให้เห็นด้วยปัญญาตามหลักไตรลักษณ์

พระโพธิญาณเถร ปฏิบัติแบบเชื่อมโยงกันแห่งองค์ไตรสิกขา มีลักษณะเป็นอานาปานสติในรูปแบบการบริกรรมว่า พุทโธ เพราะใช้สติกำหนดลมหายใจและพิจารณาสภาวะเพื่อยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ส่วนพระธรรมวิสุทธิมงคล มีจริตนิสัยไปในทางสมถะ ท่านฝึกสมาธิจนมั่นคงหนักแน่นและสามารถอยู่ในสมาธิได้นาน ท่านมีความสุขอย่างยิ่งจากที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่านและติดอยู่ในสมาธินานถึง ๕ ปี ไม่ก้าวหน้าสู่ขั้นปัญญาได้เลย จนกระทั่งได้รับการเตือนให้ละการติดสุขในสมาธิจากหลวงปู่มั่นท่านจึงได้เริ่มพิจารณาทางด้านปัญญาในที่สุด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕