หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ร้อยตำรวจเอกหญิง อุทัยวรรณ เลาประเสริฐสุข
 
เข้าชม : ๑๖๗๗๐ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์พุทธวิธีบรรเทาทุกข์ยามเจ็บป่วย (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : ร้อยตำรวจเอกหญิง อุทัยวรรณ เลาประเสริฐสุข ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  นายสนิท ศรีสำแดง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ เมษายน ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงแนวทางการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย ตามวิธีของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ ๒ ระดับ คือ ระดับโลกิยะ เป็นพุทธวิธีที่ทรงมีเป้าหมายเพื่อการบรรเทาทุกข์ยามเจ็บป่วย และระดับโลกุตตระ เป็นพุทธวิธีที่ทรงมีเป้าหมายเพื่อการดับทุกข์ คือ บรรลุพระนิพพาน โดยทั้ง ๒ วิธีนี้สามารถนำไปเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้อย่างดียิ่ง
     การศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งหัวข้อออกเป็น ๒ ตอน คือ การศึกษาในคัมภีร์พระไตรปิฎกเถรวาท และการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกรณีศึกษาจากพระเถระไทย ถึงการนำเอาพุทธวิธีมาประยุกต์ใช้ในยามเจ็บป่วย
โดยแบ่งรายงานการวิจัยออกเป็น ๕ บท ดังนี้
     บทที่ ๑ บทนำ แสดงที่มาของปัญหา วัตถุประสงค์ในการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัยและประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัย
     บทที่ ๒ หลักพุทธธรรมที่เนื่องด้วยความเจ็บป่วย เป็นการศึกษาถึงหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาสุขภาพชีวิตและรักษาโรคต่างๆ ได้ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ สมาธิ สัญญา ๑๐ ไตรลักษณ์ พรหมวิหาร ๔ และพระรัตนตรัย
     บทที่ ๓ พุทธวิธีดูแลสุขภาพและรักษาความเจ็บป่วย เป็นการศึกษาถึงหลักปฏิบัติต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย ได้แก่ การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การบริหารจิต การอยู่กับธรรมชาติ การสุขอนามัย การลดความอ้วน การชะลอความแก่ และการมีอายุยืน เป็นต้น และศึกษาถึงวิธีที่ทรงใช้ในการรักษาโรค ซึ่งมีอยู่ ๒ วิธี คือ (๑) การรักษาด้วยกรรมวิธีแบบทั่วไป ได้แก่ การใช้เภสัชสมุนไพร การใช้อาหาร การใช้ความร้อน การพักผ่อนอิริยาบถ การผ่าตัด และการใช้พลานุภาพ (๒) การรักษาด้วยพระธรรมโอสถ
     บทที่ ๔ พระเถระไทยกับการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในยามเจ็บป่วย เป็นการศึกษาถึงกรณีตัวอย่างการอาพาธของพระเถระไทยจำนวน ๓ รูป คือ พระธรรมโกศสจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) และพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ผู้ได้นำหลักธรรมและพุทธวิธีมาประยุกต์ใช้ในยามเจ็บป่วย ซึ่งถือว่าเป็นพระสาวกในยุคปัจจุบันที่เป็นแบบอย่างในการนำพุทธวิธีมาแก้ปัญหาความเจ็บป่วยให้พุทธบริษัทได้เห็นถึงผลของการใช้ธรรมโอสกได้อย่างชัดเจนที่สุด
     บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
     จากการศึกษาวิจัยพบว่า พระพุทธเจ้าทรงมีแนวทางในการแก้ปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยถึง ๒ แนวทางใหญ่ๆ คือ การป้องกันและการรักษาโรค
     ๑. การป้องกัน
     วิธีในการป้องกันสุขภาพที่พระพุทธเจ้าทรงใช้พบว่า ทรงมีหลักปฏิบัติต่างๆ ในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยอย่างครบถ้วนทั้งทางด้านกายภาพและจิตภาพ ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกวัน ดังที่กล่าวไว้ในบทที่ ๓ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยทางกายและสุขภาพอนามัยทางจิตให้แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่จะป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ไว้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
     ๒. การรักษาโรค
     วิธีในการรักษาโรคที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาใช้พบว่ามีอยู่ ๒ วิธี คือ การรักษาด้วยกรรมวิธีตามแบบทั่วไป และการรักษาด้วยพระธรรมโอสถ
          ๒.๑ การรักษาโรคด้วยกรรมวิธีตามแบบทั่วไปพบว่า เป็นการใช้กรรมวิธีทางการแพทย์ตามแบบทั่วๆ ไปที่สังคมในยุคนั้นจะพึงมี ซึ่งมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การใช้ยาสมุนไพร การใช้อาหาร การใช้ความร้อน การผ่าตัด และการพักผ่อน เป็นต้น แต่ทั้งนี้มีบางกรณีที่พระองค์ทรงจำกัดขอบเขตการรักษาเฉพาะในหมู่สงฆ์ไว้ด้วย เช่น ห้ามภิกษุฉันยาที่เจือด้วยน้ำเมาเกินขนาด และห้ามภิกษุผ่าตัดริดสีดวงทวาร เป็นต้น ผลจากการใช้กรรมวิธีต่างๆ ดังกล่าวนี้สามารถใช้บำบัดรักษาดรคหรือความเจ็บป่วยทั่วไปให้หายได้
          ๒.๒ การรักษาโรคด้วยพระธรรมโอสถพบว่า พระพุทธเจ้าทรงนำเอาหลักธรรมชั้นสูงหมวดต่างๆ ที่ทรงใช้ในการตรัสรู้ มาบำบัดรักษาโรค หมวดธรรมต่างๆ นั้นส่วนใหญ่ได้จัดรวมเป็นหมวดธรรมหมวดใหญ่มีชื่อเรียกว่า "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" โดยนำเอาผลพลอยได้จากการตรัสรู้นี้ไปรักษาดรคต่างๆ ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ และผลจากการใช้ธรรมโอสถรักษาโรคในผู้ป่วยที่เป็นพระอรหันต์พบว่า สามารถรักษาโรคให้หายได้ ดังกรณีของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก เป็นต้น
     จากพุทธวิธีการแก้ปัญหาความเจ็บป่วยทั้ง ๒ แนวทาง ที่พระพุทธองค์ทรงเคยใช้อย่างได้ผลดีมาแล้วเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีนั้น ปัจจุบันพบว่าพุทธวิธีดังกล่าวนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพและบำบัดรักษาโรคอย่างได้ผลดีเช่นเดียวกัน ดังกรณีตัวอย่างของพระเถระไทยทั้ง ๓ รูป ที่ได้นำเอาหลักพุทธธรรมและพุทธวิธีมาประยุกต์ใช้ในยามเจ็บป่วยตามความถนัดและเหมาะสมกับแต่ละท่าน อย่างได้ผลมาแล้วในระดับต่างๆ กันไป ดังเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวพุทธไทยโดยทั่วไปมาแล้ว
 

Download : 254619.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕