หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายสมบูรณ์ เอื้อมอารีวงศ์
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๖ ครั้ง
แบบจำลองกระบวนการผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้จากการก้าวข้ามของบุคคล : ศึกษากรณีประยงค์ รณรงค์และชุมชนไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ชื่อผู้วิจัย : นายสมบูรณ์ เอื้อมอารีวงศ์ ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ B.A. honors, M.A. (Jurisprudence), M.A., Ph.D. (Anthropology)
  รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ B.A. honors, M.A. (Jurisprudence), M.A., Ph.D. (Anthropology)
  รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ศ.บ.(เศรษฐศาสตร์ประยุกต์),ศ.ม. (เศรษฐศาสตร์), M.A. (Labour Studies), Ph.D. (Political Economy, Industrial Labour)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

          วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดกระบวนการผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้จากการก้าวข้ามของบุคคลตามหลักพุทธธรรมและวิทยาการปัจจุบัน ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนการผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้จากการก้าวข้าม          ของบุคคลตามหลักของประยงค์ รณรงค์และชุมชนไม้เรียง ๓) เพื่อสร้างแบบจำลองกระบวนการผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้จากการก้าวข้ามของบุคคลเพื่อใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน

วิทยานิพนธ์นี้อยู่ในกระบวนทัศน์การวิจัยแบบการแปลความ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งให้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาและเพื่อใช้ประโยชน์เป็นการวิจัยแบบประยุกต์      การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมและการวิจัยเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกเริ่มจากประยงค์ รณรงค์ในฐานะผู้ให้ข้อมูลสำคัญและใช้การเลือกตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลคนอื่นแบบสโนว์บอลเทคนิคเสริมด้วยการสัมภาษณ์แบบสุ่มตัวอย่างตามทฤษฎี สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ประยุกต์ใช้แนวทางการสร้างทฤษฎีจากพื้นฐาน ส่วนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือใช้วิธีการตรวจสอบแนวคำถามสัมภาษณ์ การตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาโดยประยงค์ รณรงค์ การรับฟังความเห็นสาธารณะและการจัดสัมมนาเฉพาะกลุ่มเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักธรรมและรับรองผลการวิจัย

          งานวิจัยนี้แสดงถึงแนวคิดการก้าวข้ามของบุคคลด้วยขั้นของการพัฒนาจิต ในทางพระพุทธศาสนาขั้นการพัฒนาเริ่มตั้งแต่คนพาลจนถึงบัณฑิตขั้นสูงสุดซึ่งในงานวิจัยนี้     บัณฑิตขั้นสูงสุดหมายถึงผู้มีความฉลาดลึกซึ้งในธรรม การแบ่งขั้นการพัฒนานี้แตกต่างจากขั้นของสาขาจิตวิทยา ในด้านกระบวนการผุดบังเกิดทางสังคมนั้น พระพุทธศาสนา มีหลักธรรมในเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายการเกิดและดับทุกข์ในปัจเจกบุคคลและการเกิดปัญหาระหว่างบุคคล ขณะที่วิทยาการปัจจุบันอธิบายกระบวนการนี้จากปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมที่กระทำ ซ้ำ ๆ อย่างหนาแน่นและต่อเนื่อง สำหรับแนวคิดสังคมตื่นรู้นั้นเป็นระบบสังคมที่มีหลักธรรมขับเคลื่อนหน้าที่และระบบย่อยต่าง ๆ ได้แก่ อโลภะในระบบเศรษฐกิจ, อโทสะในระบบการเมือง, อโมหะในชุมชนทางสังคม และอัปปมาทะในระบบวัฒนธรรม

          การวิจัยนี้พบว่า การก้าวข้ามของประยงค์ รณรงค์เริ่มจากอันธปุถุชนในวัยเด็ก เป็นกัลยาณปุถุชนขั้นต้นเมื่อบวชและวางแผนชีวิต เป็นบัณฑิตขั้นต้นซึ่งหมายถึงผู้ดำเนินชีวิตด้วยกุศลกรรมและปัญญาเมื่อประยงค์เลิกอบายมุขพร้อมทั้งเจริญสัปปุริสธรรม และก้าวข้ามสู่บัณฑิตขั้นสูงซึ่งในการวิจัยนี้หมายถึงผู้เกื้อกูลตน ผู้อื่นและโลก เมื่อเป็นผู้นำชุมชนหลังเกษียณจากอาชีพเกษตรกร นอกจากนี้ ยังพบว่า กระบวนการผุดบังเกิดทางสังคมของชุมชนไม้เรียงเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนจนเกิดปฏิบัติการ ๑๒ ปฏิบัติการที่สวนทางกระบวนทัศน์กระแสหลักในสังคม และจากปฏิบัติการดังกล่าวได้เกิดการผุดบังเกิดคุณสมบัติใหม่ขึ้นหลายประการ อาทิ การเกิดโรงงานยางของเกษตรกรแห่งแรกในประเทศ, การเกิดเครือข่ายยมนา, วิสาหกิจชุมชน, สภาผู้นำชุมชน, การเกิดกระบวนการเรียนรู้แผนแม่บทชุมชนแห่งแรกในประเทศ เป็นต้น คุณสมบัติใหม่เหล่านี้สอดคล้องกับหลักธรรมที่กำกับระบบย่อย รวมทั้งที่ขับเคลื่อนระบบสังคมในแนวคิดสังคมตื่นรู้

          การวิจัยนี้ได้ค้นพบและแสดงเป็นแบบจำลอง สังคมตื่นรู้โมเดล เพื่อให้เห็นว่า การก้าวข้ามของบุคคลนำไปสู่การผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้ได้ โดยการประชุมกลุ่มบัณฑิตและกัลยาณมิตรในการคิดและทำอย่างเป็นกุศลในเวทีของตนซึ่งแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ เป็นการทำอย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ และขยายผลทั้งด้านเวลาและพื้นที่ซึ่งแสดงถึงความเพียรในการแก้ปัญหา การรู้ชัดในสถานการณ์และการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงหรือผู้วิจัยเทียบเคียงกับ พุทธพจน์ว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา ส่วนการผุดบังเกิดสังคมตื่นรู้อาศัยการยกระดับการรู้จักตนเองของคนในชุมชนสู่วัฒนธรรมแห่งสติ (อัปปมาทะ) สังคมอุดมปัญญา (อโมหะ) เศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน (อโลภะ) และการเมืองของความการุณย์ (อโทสะ)

          กล่าวโดยสรุป การก้าวข้ามของบุคคลนำไปสู่การผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้ได้โดยการเจริญความเพียร การรู้ชัดและการรู้เท่าทันในระดับกลุ่มของตนเอง.

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕