หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสิริธรรมวิสุทธิ์ (ทองสอน สิริธมฺโม)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๕ ครั้ง
การศึกษาแนวทางการพัฒนางานพระธรรมทูตในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสิริธรรมวิสุทธิ์ (ทองสอน สิริธมฺโม) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปริยัติวิสุทธิคุณ, ผศ,ดร. ป.ธ.๔,Ph.D.
  ดร. อธิเทพ ผาทา ป.ธ.๔,Ph.D.
  ผศ. บรรจง โสดาดี นธ.เอก,ศศ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

          วิทยานิพนธ์นี้  มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นมาของพระธรรมทูตในสังคมไทย  สภาพปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานพระธรรมทูตในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และแนวทางการพัฒนางานพระธรรมทูตในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

            ผลจากการศึกษา ความเป็นมาของพระธรรมทูตในสังคมไทย พบว่า  งานพระธรรมทูตเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มแรก ต่อมาทรงแสดงธรรมโปรดยสกุลบุตรและสหายรวม ๕๕ ท่านจนได้บรรลุพระอรหันต์  ๖๑ องค์ รวมทั้งพระองค์ด้วย เหล่าพระสาวกทั้ง ๖๐ รูป ที่ส่งไปประกาศพระศาสนานั้น ถือว่าเป็นพระธรรมทูตชุดแรกที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา   ภายหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งพระสมณทูตให้นำพระพุทธศาสนาไปสั่งสอนยังนานาประเทศ  พระโสณะ และพระอุตตระ เป็นพระธรรมทูตสายที่ ๘ ที่ได้นำพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในอาณาจักรสุวรรณภูมิ ซึ่งได้แก่ประเทศไทยในปัจจุบัน             งานพระธรรมทูตในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ทรงอาศัยพระมหากษัตริย์อุปถัมภ์ วิธีการเผยแผ่โดยการเทศน์เป็นหลัก ปัจจุบันเน้นที่การชำระพระไตรปิฏกแล้วแปล กลวิธีในการเผยแผ่จากการเทศน์มาสู่การบรรยายธรรม การปาฐกถาธรรม การสนทนาธรรม และการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่ การเผยแพร่ธรรมะผ่านสื่อมวลชน อาทิ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร เทปบันทึกเสียง รวมทั้งการแสดงนิทรรศนาการทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น                                                     

            สภาพปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานพระธรรมทูตในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ตามภารกิจหลัก    ด้าน พบว่า ๑) ด้านการอบรม   พระธรรมทูตขาดความรู้ ทักษะและเทคนิคในการอบรมศีลธรรมนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป การประยุกต์ใช้หลักธรรมให้เข้ากับสถานการณ์ของบ้านเมือง สื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้นำชุมชน ๒) ด้านการบริหาร พระธรรมทูตฝ่ายบริหารไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะบริหารงานในองค์กรพระธรรมทูต ไม่มีการประสานงานดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมวางแผน ไม่ได้คัดสรรพระที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ารับการอบรมวิชาพระธรรมทูต ไม่เอาใจใสหรือออกตรวจเยี่ยมพระธรรมทูตฝ่ายปฏิบัติขณะลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ๓) ด้านสาธารณสงเคราะห์ เงินกองทุนคณะสงฆ์มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนหรือภัยพิบัติต่างๆ ๔) ด้านการบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุ ความสามารถของพระธรรมทูตที่จะแสดงธรรมออกอากาศมีน้อย การออกอากาศทางคลื่นสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาถูกคลื่นเอกชนที่มีกำลังวัตต์สูงกว่ารบกวน  ๕) ด้านกิจกรรมประเพณี  ขาดบุคลากรที่จะมาสืบสานประเพณี  ไม่ได้รับการส่งเสริมจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ๖) ด้านวิปัสสนากรรมฐาน พระธรรมทูตไม่เข้าใจในหลักการและวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การบริหารจัดการแต่ละสำนักต่างรูปต่างทำไม่เป็นเอกภาพ  การปฏิบัติยังขาดการเชื่อมโยงและบูรณาการไปในทางเดียวกัน ไม่ผ่านการอบรมหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน ๗) ด้านบรรพชาอุปสมบทและบวชศีลจาริณี บวชตามประเพณี บวชเพื่อแก้บน ผู้บวชมีอายุน้อยเกินไป และผู้ที่เคยบวชแล้วไม่มาบวชอีก ที่กล่าวมาทั้งหมดคือปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงานของพระธรรมทูตตามภารกิจ ๗ ประการดังที่กล่าวมาแล้ว

แนวทางการพัฒนางานพระธรรมทูตในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์  ตามภารกิจหลัก    ด้าน พบว่า ๑) ด้านการอบรม  ต้องมีการจัดตั้งโรงเรียนพระธรรมทูต คัดเลือกพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถฝึกอบรมวิชาพระธรรมทูต เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมประชุมปรึกษาหารือและดำเนินการไปตามเป้าหมายที่วางไว้นำสื่อที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการอบรม ๒) ด้านการบริหาร ควรยึดหลักบริหาร ๔ ประการคือ บริหารคน  บริหารงาน บริหารเวลา บริหารวัตถุสิ่งของ  ๓) ด้านสาธารณสงเคราะห์ ควรยึดหลักการสงเคราะห์ ๔ อย่าง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และการสงเคราะห์ด้วยธรรมะ ๔) ด้านการบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุ ต้องมีความรู้ความสามารถด้านการบรรยายธรรม กล้าแสดงออก สอดแทรกนิทานประกอบ ๕) ด้านกิจกรรมประเพณี ควรส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนเข้าวัด ทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะ เวียนเทียน การปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ๖) ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ควรส่งเสริมให้มีการศึกษาวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มมากขึ้น  ๗) ด้านบรรพชาอุปสมบทและบวชศีลจาริณี พระวิทยากรและพระพี่เลี้ยงต้องมีความรู้ความสามารถดูแลสามเณรที่เข้าร่วมโครงการได้ เมื่อผู้บวชลดลงจำเป็นต้องหาเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาบวช งบประมาณต้องเพียงพอ และต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ดาวน์โหลด  

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕