หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุพัฒน์ อนาลโย (พลรักษา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
การนำความซื่อสัตย์มาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระสุพัฒน์ อนาลโย (พลรักษา) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ ผศ.ดร., ป.ธ. ๓, พธ.บ.,พธ.ม. (ปรัชญา), Ph.D. (Phil.)
  ดร. ประพันธ์ ศุภษร ป.ธ. ๗, พธ.บ., ศศ.ม.(พุทธศาสนศึกษา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  ดร. แสวง นิลนามะ ป.ธ. ๗, พธ.บ., พธ.ม. (ปรัชญา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาความซื่อสัตย์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการขาดความซื่อสัตย์ในครอบครัวไทย (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการนำความซื่อสัตย์มาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวไทย  เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพโดยศึกษาเอกสารและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ๗ ท่าน

จากการวิจัยพบว่า ความซื่อสัตย์ หมายถึง ความประพฤติจริงใจ พูดจริง ทำจริง ไม่คดโกง ไม่คิดคดโกง ไม่หลอกลวง  และความประพฤติไม่เอนเอียง ซื่อตรง คำมั่นสัญญา จงรักภักดี   ส่วนในพระวินัย คือ การกล่าวคำสัตย์ ความจริงใจ สมาทาน ซื่อตรงต่อสิกขาบทตามพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า และในพระสูตรคือ ความจริงใจ พูดจริง ทำจริง การกระทำสัจกริยา  การกล่าวคำสัตย์ ซื่อตรงต่อหน้าที่ การรักษาคำมั่นสัญญา จงรักภักดี ไม่ประพฤตินอกใจ จากชาดกเช่น         เรื่องวัฏฏกโปตกจริยา เรื่ององคุลิมาลชาดก เรื่องนางสัมพุลาชาดก เป็นต้น

ลักษณะความซื่อสัตย์ที่แสดงออกทางพฤติกรรมของตนและบุคคลอื่น มีอยู่ ๒ ลักษณะ ได้แก่ (๑) ความประพฤติด้วยความจริงมี ๓ ทาง คือ ทางใจ หมายถึง ความจริงใจ ไม่หลอกลวง เรียกว่ามโนสุจริต ทางวาจา หมายถึง พูดจริง การกล่าวคำสัตย์ เรียกว่าวจีสุจริต  ทางกาย หมายถึง ทำจริง การกระทำจริง การรักษาคำมั่นสัญญา เรียกว่ากายสุจริต (๒) ความประพฤติไม่เอนเอียง คือ ความซื่อตรง หมายถึง ซื่อตรงต่อตนเอง ต่อบุคคลอื่น ต่อเวลา ต่อคำพูด ต่อบทบาทหน้าที่  ต่อคำมั่นสัญญา และความจงรักภักดี ไม่ประพฤตินอกใจ

สภาพปัญหาการขาดความซื่อสัตย์ในครอบครัวไทยมี ๒ สาเหตุ คือ

๑) สาเหตุส่วนบุคคล ได้แก่ (๑) ลักษณะบุคลิกภาพของสามีภรรยา (๒) พฤติกรรมของคู่สมรส และ(๓) ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยา

๒) สาเหตุทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ (๑) บทบาทของสตรีเปลี่ยนแปลงไป (๒) การเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางการหย่าร้าง และ(๓) ความเสื่อมทางศีลธรรมของบุคคลในสังคม

สาเหตุทั้ง ๒ ประการนี้ ส่งผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัวแตกแยกนำไปสู่การหย่าร้างตามสื่อข่าวในปัจจุบันนี้ เช่น ปัญหาการประพฤตินอกใจ ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหายาเสพติดหรือติดการพนัน  และปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

แนวทางการแก้ปัญหาของครอบครัวตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท มี ๔ แนวทาง ดังนี้ (๑) ศีล ๕ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาความประพฤตินอกใจคู่ครอง เป็นข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมพฤติกรรมทางกาย ทางวาจาของคู่สามีภรรยาให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม (๒) ฆราวาสธรรม ๔ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นหลักธรรมสำหรับการใช้ชีวิตคู่ผู้ที่ครองเรือนให้เกิดความสงบสุขราบรื่น เพื่อเป็นข้อป้องกันไม่ให้ครอบครัวแตกแยกหรือหย่าร้างกัน(๓) พรหมวิหารธรรม ๔ เป็นแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดและการพนัน เป็นหลักธรรมสำหรับผู้ปกครองใช้อบรมสั่งสอนบุตรธิดา เพื่อสร้างความสัมพันธไมตรีอันดีงามและความรักความอบอุ่นแก่ครอบครัว (๔) ทิศ ๖ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ  เป็นหลักธรรมสำหรับสร้างมนุษยสัมพันธ์ต่อบทบาทหน้าที่แก่บุคคลในครอบครัวและสังคมให้เกิดความสงบสุข

 

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕