หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์จรัญ จารุธมฺโม (จารุเจริญวงษ์)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๑ ครั้ง
บทบาทการปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐม
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์จรัญ จารุธมฺโม (จารุเจริญวงษ์) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปุริมานุรักษ์, รศ.ดร., B.A., M.A., Ph.D.(Eco.).
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ, ผศ., พธ.บ., ศศ.ม.,ร ป.ม.(การจัดการความขัดแย้ง)
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม, พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol. Sc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อบทบาทการปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐม ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อบทบาทการปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐม จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่มีต่อบทบาทการปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐม เป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Research) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth Interview) ผู้วิจัยได้สร้างแบบสัมภาษณ์ เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structure Interview)

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่พระสังฆาธิการออกปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ ในจังหวัดนครปฐม จำนวน ๔๐๐ คน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ และแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งผู้ศึกษาสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .๙๖๗๐ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕

 

ผลการศึกษาพบว่า

๑. ประชาชน มีความคิดเห็นต่อบทบาทการปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๘๖) และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด ( = ๓.๗๕) ด้านการพัฒนาท้องถิ่น ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด ( = ๓.๕๑) ด้านการพัฒนาจิตใจ

๒. บทบาทการปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐม จำแนกตามสถานสภาพส่วนบุคคล พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีสถานภาพ แตกต่างกันได้แก่ เพศ  อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และประสบการณ์ในการเข้าวัด มีความคิดเห็นต่อบทบาทการปฏิบัติศาสนกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐมไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้

               ๓.ปัญหาส่วนใหญ่ของวัดในการดำเนินงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ คือปัญหาการนโยบายการทำงานขาดแผนงาน การจัดการที่ดีเหมาะสมกับงานและการกระจายงาน การอนุเคราะห์ส่งเสริมในด้านการสาธารณสงเคราะห์ทั้ง ๓ ด้านให้แก่ชุมชนไม่ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ขาดการจัดกิจกรรมด้านส่งเสริมในงานการสาธารณสงเคราะห์ให้แก่ชุมชน และการดำเนินงานหรือดำเนินกิจกรรมขาดความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และขาดกำลังทุนสนับสนุนและขาดการประสานร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน และขาดการส่งเสริมสนับสนุนจากคณะสงฆ์ และประกอบกับการทำงานต่างวัดต่างทำขาดความร่วมมือกันทำงาน ทำให้การทำงานไปคนละทิศไม่สอดคล้องกันทำให้งานด้านการสาธารณสงเคราะห์ไม่ก้าวหน้า ตลอดจนขาดบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานและรองรับการปฏิบัติงานในอนาคตเป็นจำนวนมาก

               ดังนั้น วัดและคณะสงฆ์จังหวัดนคปฐมผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานในด้านการสาธารณสงเคราะห์ทุกระดับ ควรมีการเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอและควรเสริมปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากยิ่งขึ้น และควรมีการกระจายอำนาจหน้าที่ กระจายการปฏิบัติงานอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกวัดของจังหวัดนครปฐมอย่างเหมาะสม ประกอบกับควรทำงานอย่างมีระบบเป็นแนวทางเดียวกัน และมีเครือข่ายร่วมมือกัน โดยการใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากรให้เต็มศักยภาพ ตลอดจนมีความประพฤติดีงามด้วยศีลาจริยวัตรตามหลักพระธรรมวินัย มีความอดทน เสียสละทุ่มเทอย่างจริงจัง เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาต่อไป

 

ดาวน์โหลด 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕