หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระนิติกร จิตฺตคุตฺโต (วิชุมา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๑ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาการเมืองของเพลโต กับแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ
ชื่อผู้วิจัย : พระนิติกร จิตฺตคุตฺโต (วิชุมา) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร. พธ.บ. (ศาสนา), M.A. (Phil.),M.A. (Pol.Sc.), M.Phil, Ph.D. (Phil.).
  ผศ.ดร. โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ ป.ธ.๗, M.A.(Phil.), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                 การวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรัชญาการเมืองของเพลโต แนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ และเปรียบเทียบปรัชญาการเมืองของเพลโตกับแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาจากเอกสารและงานวิจัย

                      ผลการวิจัยพบว่า ปรัชญาการเมืองของเพลโต ก่อรูปแนวคิดขึ้นจากสภาพความปั่นป่วนทางการเมืองของเอเธนส์ และสภาพแวดล้อมทางครอบครัวที่อยู่ในสังคมชั้นสูง     เพลโตมีทัศนะว่า

อุตมรัฐเป็นสังคมอุดมคติที่ดีที่สุด มีจุดหมายทางการเมืองคือความยุติธรรม เพลโตให้ความสำคัญกับระบอบอภิชนาธิปไตยที่เป็นระบอบการปกครองที่ใกล้เคียงกับอุตมรัฐมากที่สุด ลักษณะสังคมของเพลโตจึงเป็นสังคมนิยม แต่เป็นสังคมนิยมที่เป็นไปเพื่อการเมือง ศีลธรรม และการศึกษา ส่วนสังคมนิยมทางเศรษฐกิจถูกนำมาใช้กับชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้พิทักษ์ สังคมอุดมคติของเพลโตเป็นสังคมปลายปิด คือมีรูปแบบจำกัดตายตัวและแน่นอนไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้อีก

                      พุทธทาสภิกขุมีแนวคิดทางการเมือง ที่มีพื้นฐานแนวคิดมาจากหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยประยุกต์กับวิชาการต่างๆ มาอธิบายความหมายของการเมือง คือหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องทำเพื่อประโยชน์ของของคนหมู่มาก ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสภาวะธรรมชาติ แต่ปัญหาของสังคมเกิดขึ้นเพราะ ความมีตัณหาของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว กอบโกยกักตุนจนมากเกิน ท่านจึงได้เสนอแนวคิด ”ธัมมิกสังคมนิยม” ที่เป็นสังคมที่ประกอบด้วยธรรม ยึดความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

                      เมื่อนำแนวคิดของทั้งสองท่านมาเปรียบเทียบแล้ว เห็นว่า มีประเด็นที่เหมือนกัน คือ มีแนวคิดทางการเมืองแบบวิวัฒนาการ เน้นที่การพัฒนาจิตใจ และคุณธรรมของผู้ปกครองหรือผู้นำทางการเมือง ซึ่งสังคมการเมืองที่ดีต้องเกิดจากผู้นำที่มีคุณธรรม ทั้งสองท่านปฏิเสธการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยแบบคนหมู่มาก และแตกต่างกันคือ เพลโตนำเสนอปรัชญาการเมืองที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากความเป็นจริง แต่ใช้วิธีการโต้แย้งด้วยเหตุผลเพื่อเข้าถึงสังคมอุดมคติ ให้ความสำคัญรูปแบบการปกครองเผด็จการ ที่อำนาจอยู่กับชนชั้นปกครองเพียงกลุ่มเดียว และผู้ปกครองต้องผ่านการศึกษาที่กำหนดเท่านั้น  ส่วนพุทธทาสภิกขุ ไม่ให้ความสำคัญกับระบอบปกครองใดๆ เป็นพิเศษ แต่ยอมรับวิธีเผด็จการโดยธรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่รวดเร็วในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมการเมืองเท่านั้น ท่านให้ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้ปกครองที่มีคุณธรรมด้วยตัวเอง                 อุตมรัฐเป็นรูปแบบของสังคมนิยมแบบโบราณ ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสังคม ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองแบบสาธารณะ  แตกต่างจากธัมมิกสังคมนิยมที่เป็นลักษณะเฉพาะ ที่ต้องการให้มนุษย์ดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแตกต่างจากสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ที่ให้ความสำคัญกับผลผลิตและเศรษฐกิจ เป็นการปกครองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง จุดเด่นแนวคิดของทั้งสองท่านคือ แก้ไขปัญหาของสังคมแบบพัฒนาการและระบบจริยธรรมทางสังคมได้  ส่วนจุดด้อยของแนวคิด คือ แนวคิดของทั้งสองท่านมีความเป็นอุดมคติเกินไปโดยที่ไม่ยอมรับระบบประชาธิปไตยแบบคนหมู่มาก

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕