หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอำนาจ เขมปญฺโญ (ยอดทอง)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๗ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาความรักในพุทธปรัชญาเถรวาท และงานเขียนเรื่องซิมโพเซี่ยมของเพลโต (๒๕๔๗)
ชื่อผู้วิจัย : พระอำนาจ เขมปญฺโญ (ยอดทอง) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาธีรพันธ์ วชิรญาโณ
  ดร.วีระชาติ นิ่มอนงค์
  นายสนิท ศรีสำแดง
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
 
บทคัดย่อ

     การศึกษาวิจัยนี้ มีจุดหมายเพื่อศึกษาหลักปรัชญาความรักในพุทธปรัชญาเถรวาทและในงานเขียนเรื่องซิมโพเซี่ยม (Symposium) ของเพลโตว่าเป็นอย่างไร และมีลักษณะที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
     การศึกษาวิจัยพบว่า หลักปรัชญาความรักของแนวคิดทั้งสองนี้ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันแตกต่างกันดังนี้ ในด้านการนิยามและความหมายแนวคิดทั้งสองต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความรัก คือ ความปรารถนาหรือความต้องการความสุข และสิ่งที่จะอำนวยสุขได้นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ดีงาม มีประโยชน์ และมีคุณค่าต่อชีวิต เพียงแต่ความรักในพุทธปรัชญามีขอบเขตความหมายที่กว้างกว่าและครอบคลุมความรักทุกชนิดทุกประเภท ส่วนความรัก (Eros) ในหลักปรัชญาของเพลโตมีความหมายที่แคบ เพราะหมายถึงเฉพาะความรักระหว่างเพศ ซึ่งเป็นความรักระหว่างชายหญิงที่มีความต้องการหรือความใคร่ (กาม) เป็นตัวเชื่อม
     ด้านการแบ่งประเภทของความรัก แนวคิดทั้งสองใช้เกณฑ์เดียวกันในการจำแนก คือ พิจารณาถึงธรรมชาติของความรักเป็นสำคัญ เพียงแต่ในพุทธปรัชญาจำแนกได้เป็น ๔ ประเภท คือ สิเนหะ เปหะ เมตตา และฉันทะ ส่วนเพลโตนั้นแบ่งความรักออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับความยาก ระดับเจตนารมณ์ และระดับเหตุผลหรือปัญญา ความรักที่เกิดจากแรงผลักดันของกิเลสตัณหาหรือความอยาก (appetite) น่าจะเทียบได้กับความรักแบบสิเนหะความรักระดับเจตนารมณ์ หรือระดับความรับผิดชอบชั่วดี (will) เกือบจะเหมือนกับความรักแบบเปมะ ความรักแบบเมตตา เป็นความรักที่เพลโตไม่ได้จัดไว้ในความรักระดับต่างๆ ของตน และความรักระดับเหตุผลหรือปัญญา ซึ่งเป็นความรักขั้นสูงสุด มุ่งแสวงหาความจริงที่เรียกว่า "แบบ (Form)" พอจะเทียบได้กับความรักแบบฉันทะในพุทธปรัญาเถรวาท
     ด้านบ่อเกิดของความรัก แนวคิดทั้งสองมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกล่าวคือ พุทธปรัชญาถือว่า ความรักทั้งหลายเป็นเพียงเจตสิกหรืออาการอย่างหนึ่งที่เข้าไปประกอบกับจิต (วิญญาณ) ก่อให้เกิดความรักประเภทต่างๆ ส่วนเพลโตถือว่า ความรักทั้งหลายมีกำเนิดมาจากวิญญาณส่วนต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันเท่านั้น
     ด้านจุดหมายสูงสุดของแนวคิดทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ พุทธปรัชญาถือว่า ความรักแบบฉันทะนำไปสู่ "นิพพาน" อันเป็นจุดหมายสูงสุด และนิพพานนี้ก็เป็นเพียงภาวะอย่างหนึ่งของผู้ไม่มีกิเลส ดับตัณหาอุปาทานทั้งหลาย สิ้นภพชาติไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสาร ส่วนเพลโตถือว่า ความรักระดับเหตุผลนำไปสู่การเข้าถึง "แบบหรือมโนคติ" อันเป็นจุดหมายสูงสุด อยู่ในโลกแห่งแบบหรือโลกเหนือประสาทสัมผัส โดยที่วิญญาณบริสุทธิ์ของนักปรัชญาที่ตายไปแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าถึงได้ ส่วนคนที่มีชีวิตอยู่เป็นได้เพียงคำนึงถึงแบบ นอกจากนี้วิญญาณที่อยู่ในโลกแห่งแบบก็สามารถมาจุติได้อีกตราบใดที่ความไร้เหตุผลได้เกิดขึ้น
     ด้านแนวทางดำเนินสู่จุดหมายสูงสุดนั้น พุทธปรัชญาถือว่า "อริยมรรค มีองค์ ๘" เป็นปฎิปทาเพื่อดำเนินสู่พระนิพพาน คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตมั่นชอบ ส่วนเพลโตถือว่า ผู้มีความรักจะดำเนินสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับแบบได้นั้น จะต้องพัฒนาความรักของตนให้สัมพันธ์กับความสวยงาม กล่าวคือ เริ่มแรกมีความรักในร่างกายที่สวยงามอย่างเดียว จากนั้นรักความสวยงามภายในร่างกายของทุกสิ่งทุกอย่าง จนมองเห็นความสวยงามของจิตวิญญาณ เห็นความสวยงามของการปฏิบัติและกฎระเบียบทั้งหลาย และในที่สุดก็จะเห็นความสวยงามด้วยตัวของมันเอง คือ "แบบ (Form)" หรือ "มโนคติ (Idea)" เมื่อเขาต้องตายไป วิญญาณส่วนนี้ก็จะได้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับแบบหรือมโนคติสูงสุดนั้น

Download : 254702.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕