หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวอรรณี ฉัตรโชติธรรม
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๔ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องจิตประภัสสรในพุทธปรัชญาเถรวาทกับแนวคิดจิตเดิมแท้ของนิกายเซน
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวอรรณี ฉัตรโชติธรรม ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๑๑/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร. ป.ธ.๗, พธ.บ., ศศ.ม.,พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี ป.ธ.๘, พธ.บ., พธ.ม.(ธรรมนิเทศ)
  รศ.ดร. สุมาลี มหณรงค์ชัย บธ.บ., อ.ม., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์การวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องจิตประภัสสรของพุทธปรัชญาเถรวาท  (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องจิตเดิมแท้ของนิกายเซน  (๓)  เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องจิตประภัสสรของพุทธปรัชญาเถรวาทกับแนวคิดเรื่องจิตเดิมแท้ของนิกายเซน

จากการศึกษาพบว่า

จิตประภัสสรของพุทธปรัชญาเถรวาท หมายถึงจิตที่ผุดผ่อง หรือมีรัศมีอันซ่านออกมา เปรียบเหมือนน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนแสงไฟส่องสว่างโลกนี้ เป็นจิตที่ยังปกติ ชื่อภวังคจิต แต่เมื่อจิตทำงานจะถูกอุปกิเลสที่จรเข้ามาทำให้เศร้าหมอง หากมีการฝึกอบรมจิตด้วยสติปัฏฐาน ๔ จิตประภัสสรก็จะเป็นจิตหลุดพ้นจากอุปกิเลสด้วยอำนาจกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุต และกลายเป็นจิตของพระอริยะ

จิตเดิมแท้ของนิกายเซน เป็นจิตที่มีความบริสุทธิ์และเปล่งประกายโดยธรรมชาติ มีหน่ออ่อนแห่งความเป็นตถาคต และมีความงดงามโดยธรรมชาติ แต่เศร้าหมองเพราะมนัสคิดปรุงแต่งสร้างกรรมอันวิจิตรพิสดารต่างๆ ภายใต้การครอบงำของอุปกิเลส จากนั้นผลแห่งกรรมอันวิจิตร วาสนา อุปนิสัยความเคยชินต่างๆ ก็ถูกเก็บสะสมไว้ในจิต (อาลยวิญญาณ) ส่วนจิตเดิมแท้ในนิกายเซนจริงๆ เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ สะอาด สว่างโดยตัวของจิตเอง หรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นสิ่งสากลมีอยู่แล้วในชีวิตของคนทุกคน เป็นธรรมชาติเดิมแท้ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่เศร้าหมองเพราะถูกกิเลสบดบังธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะไว้ เช่น อวิชชา เป็นต้น และก่อให้เกิดตัวตน หรือความยึดติด แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นมายาภาพซึ่งสะท้อนออกมาจากจิต การจะเข้าถึงความบริสุทธิ์แห่งจิตหรือสัจจภาวะ คือจิตเดิมแท้ที่มีความจริงอันสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวนั้นได้ ด้วยการบำเพ็ญแบบตระหนักรู้จิตอย่างสมบูรณ์ โดยการรู้แจ้งคือการเปิดเผยธรรมชาติภายในคือจิตนั่นเอง จึงจะพบกับจิตว่างหรือจิตหลุดพ้น หรือจิตคือพุทธะ ที่เรียกว่า ซะโตะริ

การเปรียบเทียบ มีทั้งความเหมือนและความต่าง คือพุทธปรัชญาเถรวาทได้รับแนวคิดจากพุทธศาสนายุคแรกคือ จิตผุดผ่อง (ประภัสสร) ได้แก่ภวังคจิต และนิกายเซนได้รับแนวคิดจากนิกายโยคาจาร ได้แก่อาลยวิญญาณ ภวังคจิตกับอาลยวิญญาณทำหน้าที่เหมือนกันคือ เก็บสะสมประสบการณ์ และก่อสร้างพฤติภาพต่างๆ

ส่วนความต่างเกิดขึ้นในยุคที่เป็นนิกายเซน ซึ่งมีการศึกษาคัมภีร์ที่มีเนื้อหาแบบเซน ได้แก่ จิตเดิมแท้มีความบริสุทธิ์เป็นเนื้อแท้ มีอยู่แน่นอนเพียงหนึ่งเดียว เป็นธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่เป็นสิ่งสากล มีอยู่แล้วในชีวิตของคนทุกคน อวิชชาเป็นสิ่งที่บดบังจิตเดิมแท้นี้ไว้ จึงก่อให้เกิดตัวตนและความยึดติด แบ่งแยกตัวเรากับสิ่งภายนอกให้ออกจากกัน เมื่อความคิดปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ตัวตนและความยึดติดทั้งหลายก็สูญสิ้น ไม่มีสิ่งที่เป็นของตรงกันข้าม เช่น ตัวเรากับสิ่งภายนอก ดีกับชั่ว หญิงกับชาย ทุกข์กับสุข ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเอกภาพเดียวกับธรรมชาติ และทั้งหมดเป็นเรื่องของการตื่นขึ้นโดยตรง หรือการตรัสรู้โดยฉับพลัน อีกนัยหนึ่ง นิกายเซนถือว่า
สรรพสัตว์มีธาตุแห่งพุทธะ หรือธาตุรู้อยู่ภายในจิตเหมือนกันหมด พระอรหันต์กับปุถุชนไม่มีความแตกต่างกันเลยในแง่ของธาตุแห่งพุทธะ ที่ต่างกันคือพระอรหันต์สามารถขจัดกิเลสที่ห่อหุ้มธาตุแห่งพุทธะออกไปได้ ส่วนปุถุชนยังไม่สามารถขจัดออกไปได้ อุปมาเหมือนคนสองคนมีกระจกคนละบาน กระจกของคนหนึ่งใสสะอาดสามารถสะท้อนภาพได้อย่างชัดเจน เพราะได้รับการเช็ดถูอยู่ทุกวัน ส่วนกระจกของอีกคนเต็มไปด้วยคราบฝุ่นธุลีจนไม่สามารถสะท้อนภาพอะไรได้ เพราะไม่ได้รับการเช็ดถูเลย เนื้อแท้ของกระจกที่คนทั้งสองมีไม่ได้แตกต่างกันเลย

แต่พุทธปรัชญาเถรวาทมองว่า จิตประภัสสรคือภวังคจิต ถึงแม้จะมีความบริสุทธิ์โดยธรรมชาติจริง แต่พอถูกกิเลสที่จรเข้ามาก็เศร้าหมองไปในช่วงเวลาที่จิตรับอารมณ์ (ชวนวิถี) เหมือนมารดาบิดาและอุปัชฌาย์อาจารย์ผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระ แต่กลับมาได้ความเสียชื่อเสียง เพราะบุตรและสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก ดังนั้น เมื่อจิตเศร้าหมองจึงต้องฝึกอบรมจิตด้วยสติปัฏฐาน ๔ จิตประภัสสรก็จะเป็นจิตหลุดพ้นจากอุปกิเลสด้วยอำนาจกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุต และพัฒนาไปเป็นจิตของพระอริยะต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕