หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมชาติ ฐิติปญฺโญ (เครือน้อย)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๗ ครั้ง
จริยธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในวรรณกรรมล้านนาเรื่อง อ้ายร้อยขอด (๒๕๔๗)
ชื่อผู้วิจัย : พระสมชาติ ฐิติปญฺโญ (เครือน้อย) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
  พระมหาสง่า ธีรสํวโร
  ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ มีนาคม ๒๕๔๗
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาจริยธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฎในวรรณกรรมล้านนา เรื่อง อ้ายร้อยขอด พร้อมทั้งวิเคราะห์บทบาทของตัวละครในฐานะที่เป็นสื่อจริยธรรม เป็นการศึกษาวิจัยข้อมูลเชิงเอกสาร โดยการศึกษาจริยธรรมที่สื่อผ่านตัวละครในวรรณกรรม นำมาวิเคราะห์สอบทานกับหลักจริยธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฏก
     จากการศึกษาพบว่า หลักจริยธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมล้านนา เรื่อง อ้ายร้อยขอดประกอบด้วยจริยธรรม ๓ ขั้น จริยธรรมชั้นต้นได้แก่ เบญจศีล เบญจธรรม จริยธรรมชั้นกลาง ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ และจริยธรรมชั้นสูง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ผู้แต่งได้เน้นการสอนจริยธรรมในระดับชั้นต้นและชั้นกลาง เนื่องจากมีความง่ายสำหรับชาวบ้านที่จะปฏิบัติ จริยธรรมระดับสูงเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ ผู้แต่งไม่ได้สอนไว้โดยตรง แต่ได้กล่าวถึงพระนิพพาน โดยให้ความหายเป็นนัยว่า หากปฏิบัติจริยธรรมทั้งสองอย่างข้างต้นแล้วก็จะสามารถเข้าใจหลักการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ เพื่อการบรรลุพระนิพพาน ดังที่ผู้แต่งได้สรุปในตอนท้ายของเรื่องกล่าวว่าอ้ายร้อยได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้าในชาติปัจจุบัน
     เนื้อหามุ่งสอนจริยธรรมในระดับชาวบ้านโดยผ่านสื่อความบันเทิง เพื่อให้รู้หลักการในการดำเนินชีวิตประจำวันให้ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องของศีลที่เป็นจริยธรรมพื้นฐานของบุคคลทั่วไปและ หลักของการอยู่ร่วมกันในหัวข้อจริยธรรมเรื่องทิศหก พร้อมทั้งสอดแทรกจริยธรรมอื่นๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการทำความดีของคนในสังคม ผู้แต่งได้ใช้ภาษาเรียบง่ายความหมายของจริยธรรมตรงกับความต้องการสื่อไปยังผู้ฟัง การสื่อจริยธรรมของผู้แต่งเป็นไปอย่างปราณีต ผู้ฟังไม่มีความรู้สึกว่าถูกสอนกลับมีความรู้สึกว่าจริยธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำที่ต้องปฏิบัติ วรรณกรรมค่าวซอ เรื่องอ้ายร้อยขอดสะท้อนให้เห็นคุณค่าของสังคมล้านนาในอดีต ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างของสังคม แต่ก็ไม่เกิดปัญหาในเรื่องความขัดแย้ง เนื่องจากได้รับการขัดเกลาจากจริยธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จึงนับว่าวรรณกรรมค่าวซอเรื่องอ้ายร้อย เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่ามากเรื่องหนึ่งในฐานะที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นเป็นสื่อช่วยขัดเกลาจริยธรรมให้กับสังคม
     จากนั้นยังพบว่า การสื่อจริยธรรมผ่านตัวละครในวรรณกรรมในเรื่องนี้เข้ากับวิ๔ชีวิตของสังคมระดับชาวบ้าน ผู้แต่งได้เขียนให้ตัวเอกของเรื่องเป็นบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมอยู่ในระดับล่างของสังคม ไม่เหมือนกับตัวเอกของวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่ตัวเอกมักจะเป็นผู้มีสถานภาพทางสังคมสูง เช่น กษัตริย์ เศรษฐี เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟังได้เห็นค่าของการทำความดีได้อย่างชัดเจนและนำมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันของตนเองได้เป็นอย่างดี

Download : 254706.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕