หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหามานะ มุนิวํโส (กลมกลาง)
 
เข้าชม : ๑๖๗๗๑ ครั้ง
ปัญญาสชาดก เรื่องที่ ๑-๗ : การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์ (๒๕๔๗)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหามานะ มุนิวํโส (กลมกลาง) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(บาลี)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  นาย รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗
 
บทคัดย่อ

     การศึกษาปัญญาสชาดก ฉบับตัวเขียน ที่ผู้วิจัยค้นพบมีอยู่มากมายในหอสมุดแห่งชาติ และวัดต่างๆ ทำให้ได้ทราบต้นฉบับ การจาร เนื้อหา ความนิยมที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งตัวเขียนฉบับใบลานเดิมสันนิษฐานว่าได้สูญหายไป คงอยู่แต่ฉบับตัวเขียน ๒ ประเภท คือ ฉบับตัวเขียนที่ไม่มีประวัติการจาร และฉบับตัวเขียนที่มีประวัติการจารในสมัยต่อมาจากชาดกเรื่องที่ ๑-๗ คือสมุทรโฆษชาดก สุธนกุมารชาดก สุธนุชาดก รตนปัชโชตชาดก สิริวิปุลกิตติชาดก วิปุลราชชาดก และสิริจุฑามณีชาดก ผู้วิจัยพบว่า ๓ เรื่องแรก มีสาเหตุมาจากมาตุคาม ลักษณะเรื่องเป็นเรื่องประโลมโลก ที่ก่อให้เกิดทุกข์ ที่เหลือแสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมีเป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้นทานในระดับอุปบารมีและปรมัตถบารมี ที่ยวดยิ่งของพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งโพธิญาณ ผู้แต่งได้นำเสนอมุ่งเน้นให้เกิดศรัทธามากกว่าการปฏิบัติตามได้จริง แต่ถือเป็นทิฏฐานุคติได้
     ปัญญาสชาดกเป็นชาดกนอกนิบาต ในส่วนที่เป็นฉบับตัวเขียนใบลาน ภาษาบาลี อักษรขอมที่จารต่อกันมาในประเทศไทย ยังไม่มีใครปริวรรตตรวจสอบชำระเป็นภาษาบาลี อักษรไทย มีแต่ฉบับแปลไทยของหอสมุดแห่งชาติซึ่งเป็นฉบับหลักในการศึกษา และมีวรรณคดีไทยที่นำเรื่องชาดกบางเรื่องมาดัดแปลงนำเสนอ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ (สมุทรโฆสชาดก) สุธนมโนห์รา (สุธนกุมารชาดก) กลับเป็นที่รู้จักนิยมชมชอบซึมซาบในจิตใจของคนไทยอย่างยิ่ง
     เนื้อหาของวิทยานิพนธ์นี้แบ่งออกเป็น ๕ บท คือ :
     บทที่ ๑ ว่าด้วยบทนำ พรรณนาถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาวิธีดำเนินการวิจัยและตรวจสอบชำระ
     บทที่ ๒ ว่าด้วยการศึกษาวิเคราะห์ปัญญาสชาดก ในประเด็นต่างๆ คือ ประวัติความเป็นมา อรรถกถาชาดกกับปัญญาสชาดก ต้นฉบับตัวเขียนที่ใช้ในการวิจัยตรวจสอบชำระ วิวัฒนาการความเป็นมาของการจารและคัดลอก ข้อผิดพลาดในการจารแต่ละฉบับ
     บทที่ ๓ ว่าด้วยการศึกษาเปรียบเทียบปัญญาสชาดกฉบับอักษรขอม อักษรมอญ ในด้านเนื้อหา สำนวนภาษา คาถา หลักธรรมในพระพุทธศาสนา คติความเชื่อ
     บทที่ ๔ ว่าด้วยปัญญาสชาดกที่ปริวรรตชำระตรวจสอบแล้ว
     บทที่ ๕ ว่าด้วยบทสรุปและข้อเสนอแนะ
     ภาคผนวก ผู้วิจัยได้สรุปชาดกแต่ละเรื่องไว้ประกอบการศึกษาสำหรับผู้สนใจ
     ผลของการวิจัยพบว่า ปัญญาสชาดกไม่มีประวัติความเป็นมาชัดเจนแน่นอนแต่ยอมรับกันว่าแต่งประมาณปี พ.ศ. ๒๐๐๐ ผู้แต่งได้ดัดแปลงนิทาน คติความเชื่อที่มีอยู่ในท้องถิ่นผสมกับอรรถกถาชาดก หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ใช้ภาษาบาลีถ่ายทอด ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ผู้แต่งใช้ภาษาบาลีเรียบเรียงผูกประโยคได้ไม่ดีนัก ประกอบกับการจารต่อกันมามีข้อผิดพลาดตกหล่นมาก แม้จะมีปรากฏอยู่หลายฉบับ แต่เป็นภาษาบาลีฉบับตัวเขียน อักษรขอม ซึ่งยากต่อการศึกษาของผู้สนใจ ส่วนใหญ่มุ่งศึกษาฉบับแปลไทยเท่านั้น และได้รับความนิยมสนใจดัดแปลงเนื้อหาสาระของเรื่องเป็นโคลงฉันท์ กาพย์ กลอน เพลง แหล่ จนวิวัฒนาการมาเป็นละคร ภาพยนต์โทรทัศน์จนถึงปัจจุจัน

Download : 254709.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕