หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ (ศรีพันธ์)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๒ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ตามแนวพระไตรปิฎก (๒๕๓๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ (ศรีพันธ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๐๖/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาเศรษฐศาสตร์จากพระไตรปิฎกที่เป็นคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าในกรอบของเถรวาท และเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของเนื้อหาดังกล่าวในเศรษฐศาสตร์ตะวันตก เศรษฐศาสตร์กระแสหลักนับว่ามีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน อาศัยกระบวนการทางความคิดที่ได้จากการเปรียบเทียบเพื่อต้องการสืบค้นหาความเป็นไปได้ของการนำเอาเศรษฐศาสตร์ตามแนวพระไตรปิฎกมาใช้ในชีวิตที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
           จากการศึกษาพระไตรปิฎก และการศึกษาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันกับพระไตรปิฎกพบว่าปัญหาของชีวิตมนุษย์ในแง่เศรษฐกิจ มีสาเหตุมาจากการสร้างระบบโดยความคิดและการกระทำของมนุษย์เอง เพราะขาดความรู้ความเข้าใจอัตวิสัย คือชีวิตร่างกายและจิตใจของตน ที่เป็นตัวผลักดันให้กระทำกิจกรรมเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง แต่การศึกษาตามแนวพระไตรปิฎกยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่ยอมรับความสามารถของมนุษย์ ที่สามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหาของมนุษย์และสังคมที่มีอยู่ได้ ด้วยการศึกษาให้เข้าใจชีวิตจิตใจตนเองและสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้ และอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งจะทำให้จัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            ระบบชีวิตในพระพุทธศาสนา มี ๒ ระดับ คือ ระดับธรรมดาทั่วไป เป็นชีวิตผู้ครองเรือนต้องอยู่ในระบบแบบแผนของสังคม ต้องยอมรับระบบเศรษฐกิจที่สังคมสร้างขึ้นด้วยความเข้าใจ ส่วนอีกระดับหนึ่งเป็นชีวิตของบรรพชิตที่ไม่ต้องดำเนินไปตามระบบแบบแผนของระบบเศรษฐกิจเพราะไม่ต้องมีกิจกรรมการผลิต การขาย การวิภาคกรรมทางวัตถุ ถ้าจำเป็นต้องเกี่ยวกับวัตถุไม่พึงคิดให้เป็นกำไร หรือขาดทุน แต่มุ่งหมายให้เป็นอยู่อย่างบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณ ช่วยสร้างสรรค์ให้ประชาชนมีคุณภาพทางธรรม
           เมื่อเปรียบเทียบกับแนวความคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ก็ได้ข้อสรุปว่าความทุกข์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน แต่วิธีการมองสาเหตุของปัญหาค่อนข้างแตกต่างกัน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ตะวันตก มนุษย์ในทางเศรษฐกิจมีเหตุผลเป็นของตนเองสนใจประโยชน์ของตน อาศัยแรงผลักดันนั้นกระตุ้นให้เกิด ผลิตกรรม การขาย การวิภาคกรรม การแข่งขันกันทางวัตถุ เพื่อให้ถึงจุดหมายคือความมั่งคงทางวัตถุ ส่วนแนวพระพุทธศาสนา ยอมรับความจำเป็นของชีวิตที่ต้องอาศัยปัจจัยทางวัตถุ แต่วัตถุเป็นอุปกรณ์ของชีวิตเพื่อให้ได้คุณภาพที่นอกเหนือจากวัตถุ เรียกว่าการได้คุณภาพชีวิตไม่ยึดติดหมกมุ่นในวัตถุและชีวิต
           จุดกำเนิดของเศรษฐศาสตร์ตะวันตก มีแนวความคิดมาจากความเชื่อที่ว่า มนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล จึงสามารถกำหนดกิจกรรมของตนได้อย่างเสรี ธรรมชาติแวดล้อมอยู่ภายใต้การยึดครองและเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ จุดกำเนิดความคิดหลักของเศรษฐศาสตร์ตามแนวพระไตรปิฎก เกิดจากความว่างจากการมีตัวตนที่มีผลมาจากการฝึกฝนตนเพื่อหยั่งรู้ธรรมชาติที่แท้จริง ได้รู้ว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การดำเนินกิจกรรมจึงควรให้สอดคล้องกับธรรมชาติกิจกรรมใด ๆ ควรเป็นไปเพื่อความว่าง
          ระบบเศรษฐกิจตามแนวพระไตรปิฎก บางกรณีก็แตกต่างกับแนวความคิดตะวันตกโดยสิ้นเชิง คือความสุขที่เกิดจากการให้เปล่าเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยิ่งขึ้นไป ที่ไม่มีการประเมินว่าขาดทุนหรือได้กำไรทางวัตถุแต่อย่างใด ส่วนเกินของที่บริจาคให้แก่สาธารณชนมีค่ามากกว่าการยึดครองแต่เพียงผู้เดียว วิธีการของพระพุทธศาสนาสอดคล้องกลมเกลียวกับบุคคลระบบสังคมและสิ่งแวดล้อม

Download : 253608.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕