หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสมุห์มงคล สิริมงฺคโล (ทองเจริญ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
บทบาทพระสงฆ์ในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสมุห์มงคล สิริมงฺคโล (ทองเจริญ) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม พ.ม., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
  ผศ.ดร. เติมศักดิ์ ทองอินทร์ พธ.บ., M.A., Ph D. (Pol. Sc.)
  ผศ.ชวัชชัย ไชยสา, พธ.บ., M.A. (Pol. Sc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

                   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาบทบาทพระสงฆ์ในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี (๒) เปรียบเทียบบทบาทพระสงฆ์ในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ตามความเห็นของเยาวชน จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Study) จากเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จำนวน ๓๖๒ คน โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งปลายปิดและปลายเปิด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบ  ค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) และเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) คือ การวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์ (Interview) ผลการวิจัยพบว่า

ผลการวิจัยพบว่า

                   ๑. บทบาทพระสงฆ์ในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๑๓ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการเป็นตัวแบบทางจริยธรรม ด้านการเป็นผู้อบรมสั่งสอน ด้านการเป็นผู้เตือนสติ ด้านการเป็นผู้ปลูกฝังคุณธรรม และด้านการเป็นผู้สร้างจิตสำนึกของเยาวชนต่อสังคม อยู่ในระดับมากทุกด้าน

                   ๒. ผลการเปรียบเทียบบทบาทพระสงฆ์ในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ตามความเห็นของเยาวชน จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า สถานส่วนบุคคลของเยาวชนในด้านสังกัดโรงเรียน และระดับชั้น มีผลทำให้ความคิดเห็นที่มีต่อบทบาทพระสงฆ์ในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นการยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนสถานภาพส่วนบุคคลของเยาวชนในด้านเพศ อายุ และผลการเรียน ไม่ทำให้เกิดความแตกต่าง

                   ๓. ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ตามรายด้านของการวิจัย ดังนี้

                       ๓.๑ ด้านการเป็นตัวแบบทางจริยธรรม พระสงฆ์ควรให้ศิษย์วัดหรือคฤหัสถ์ทั่วไปเป็นผู้กระทำภารกิจแทน ในส่วนที่ต้องสรรจรไปในสถานที่อโคจรต่างๆ และพระสงฆ์ควรชี้แจงให้เยาวชนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพข่าวความประพฤติเสียหายของพระสงฆ์บางรูปในหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคล มิใช่ภาพการกระทำของพระสงฆ์ส่วนรวม ในทุกๆ ครั้งที่มีข่าวเกิดขึ้น

                       ๓.๒ ด้านการเป็นผู้อบรมสั่งสอน พระสงฆ์ควรปรับปรุงรูปแบบและวิธีการสอนให้เหมาะสมกับวัยของเยาวชน สามารถเร้าความสนใจแก่เยาวชนได้, พระสงฆ์ควรจัดให้มีการวัดและประเมินผลการสอน โดยอาจใช้การสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน หรือวัดผลด้วยแบบทดสอบความรู้, พระสงฆ์ควรสร้างช่องทางอื่นสำหรับขยายโอกาสในการจัดการสอนที่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลา อาทิ เครื่อข่ายอินเตอร์เน็ต เฟสบุ๊ค เป็นต้น และพระสงฆ์ควรปลูกฝังค่านิยมให้นักเรียนมุ่งเป้าหมายการเรียนรู้ไปที่องค์ความรู้ที่ได้รับ มากกว่าคะแนน หรือเกรดเฉลี่ย

                       ๓.๓ ด้านการเป็นผู้เตือนสติ พระสงฆ์ควรประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงต่อเหตุต่างๆ เพื่อให้การเตือนสติแก่เยาวชนลักษณะของการป้องกันปัญหา และสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมของเยาวชน โดยใช้ความร่วมมือจากกลุ่มเยาวชนเอง, พระสงฆ์ควรสร้างความคุ้นเคย เป็นกันเองกับเยาวชน และควรใช้รูปแบบของการชักชวนให้ปฏิบัติ มากกว่าการออกคำสั่งให้ปฏิบัติ และพระสงฆ์ควรเว้นการตำหนิโทษแก่เยาวชน ในลักษณะที่เจาะจงบุคคลต่อหน้าสาธารณชน

                       ๓.๔ ด้านการเป็นผู้ปลูกฝังคุณธรรม พระสงฆ์ควรสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเยาวชน และประสานการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และพระสงฆ์ควรจัดกิจกรรมโดยให้ครอบคลุมเยาวชนในทุกระดับชั้นเรียน

                       ๓.๕ ด้านการเป็นผู้สร้างจิตสำนึกของเยาวชนต่อสังคม พระสงฆ์ควรสนับสนุนการจัดกิจกรรมบริการสังคมในลักษณะจิตอาสา เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกต่อสังคม และพระสงฆ์ควรสร้างเครือข่ายกับภาคประชาสังคม โดยจัดกิจกรรมนอกสถานที่ร่วมกับสถานศึกษาอื่นเพื่อสร้างเครือข่ายทางสังคมของเยาวชน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕