หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางจรูญศรี กล่ำกลาย
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๓ ครั้ง
ทัศนคติของพุทธศาสนิกชนต่อการเข้าร่วมกิจกรรม การเปิดวัดวันอาทิตย์ ของวัดปัญญานันทาราม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ชื่อผู้วิจัย : นางจรูญศรี กล่ำกลาย ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ. ดร. สิริวัฒน์ ศรีเครือดง, พธ.บ., M.A., Ph.D.
  ผศ. ดร. ประยูร สุยะใจ, ป.ธ.๓, พธ.บ., B.J., กศ.ม., M.A., Ph.D.
  ผศ. สาระ มุขดี กศ.บ. (พยาบาลศึกษา) ศศ.ม. (จิตวิทยาการปรึกษา)วิทยาลัยพยาบาลกรุงเทพ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                    วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาทัศนคติของพุทธศาสนิกชนต่อการเข้าร่วมการเปิดวัดวันอาทิตย์ (๒) เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลต่อทัศนคติของพุทธศาสนิกชนต่อการเข้าร่วมโครงการการเปิดวัดวันอาทิตย์ และ(๓)เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคต่อการเข้าร่วมกิจกรรม การเปิดวัดวันอาทิตย์ ของวัดปัญญานันทาราม ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นพุทธศาสนิกชน จำนวน ๒๓๐ คน โดยใช้เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม แบบประมาณค่า และสถิติที่วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (Independent Samples t-test) และค่าเอฟ F-test (One –way ANOVA)

              ผลการศึกษาพบว่า

                        ด้านทานมัยบุญสำเร็จด้วยการบริจาคทานในงานวิจัยพบว่า ทัศนคติของพุทธศาสนิกชนต่อการเข้าร่วมการเปิดวัดวันอาทิตย์ของวัดปัญญานันทาราม พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการตระหนักรู้หลักธรรมเกี่ยวกับการให้อภัยต่อผู้อื่นเป็นการทำทานอย่างหนึ่ง และการอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ก็ถือเป็นการให้ทาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัดได้นำเสนอหลักการให้ทานตามพุทธวิธีอย่างถูกต้องจึงควรส่งเสริมสนับสนุนการเทศน์การสอนให้เห็นผลจากการกระทำนั้นๆ แต่สิ่งที่ควรพัฒนาให้เพิ่มมีมากขึ้นเกี่ยวกับรูปแบบลักษณะการทำบุญที่จะได้อานิสงส์มากทั้งถวายเป็นสังฆทานและการทำทานให้ผู้ยากไร้ ซึ่งประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจดีพอ ดังนั้นทางวัดควรนำเสนอหลักการประกอบพิธีกรรมอย่างถูกต้องเหมาะสม

                   ด้านสีลมัยบุญสำเร็จด้วยการรักษาศีลในงานวิจัยพบว่า พุทธศาสนิกชนเห็นความสำคัญของการรักษาศีลทำให้ทุกคนในสังคม อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขและมีความประพฤติที่ดีงามทางกายและวาจา เป็นการรักษาศีล นับว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของชาวพุทธอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ทางวัดควรจะได้พัฒนาหลักข้อวัตรปฏิบัตินี้ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีพุทธศาสนิกชนบางเหล่าที่ยังไม่เข้าใจหลักธรรมที่มีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการปฏิบัติให้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง จนทำให้หมดสิ้นจากกองทุกข์ ควรเทศน์สอนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการมีทรัพย์สมบัติ  และการปฏิบัติธรรมที่จะได้เห็นสภาวะธรรมได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้มีการรักษาศีลอย่างเคร่งครัด

                  ด้านภาวนามัยบุญสำเร็จด้วยการภาวนา  ในงานวิจัยพบว่า หลักการปฏิบัติถือเป็นหัวใจหลักของคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้มีการเจริญภาวนาแล้วแผ่เมตตาให้แก่ผู้อื่นเป็นการทำทานและการเจริญภาวนาทำให้เกิดปัญญาช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตต่างๆ ได้ จะเห็นได้ว่าจากการปฏิบัติภาวนาทำให้พุทธศาสนิกเข้าใจผลของการปฏิบัติมากขึ้น แต่มีบางส่วนที่ทางวัดควรให้การจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อที่สุดขั้วมากเกินไป ควรมีข้อปฏิบัติในการบำเพ็ญเพียรทั้งการเจริญภาวนาและการให้ทานอย่างเหมาะสมและบูรณาการ

                ด้านกิจกรรมทางศาสนา ในงานวิจัยพบว่า พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมโดยเฉพาะกิจกรรมทางพุทธศาสนา คือการรักษาศีล มีการรักษาศีล ๕ และศีล ๘  เป็นรากฐานของการสร้างความดีทั้งหมด นอกจากนั้นได้มีการบำเพ็ญทาน(“โครงการ พุทธอาสา ”)การเปิดโอกาสให้ทำบุญด้วยการเสียสละกำลังกายและกำลังสติปัญญาช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่า เป็นการทำบุญ โดยไม่ต้องใช้เงิน ดังนั้นวัดควรส่งเสริมให้เกิดเป็นสังคมวิถีพุทธเพิ่มมากขึ้น ในอีกส่วนหนึ่งที่ทางวัดควรพัฒนาให้เกิดการตระหนักรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบำเพ็ญทาน(โครงการสมโภชพระไตรปิฎก) ขณะที่สาธยายพระไตรปิฎก สวดมนต์แปล จึงเพิ่มความสำคัญว่าเกิดผลเชิงประจักษ์ต่อผู้ปฏิบัติกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕