หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการปัญญา ปญฺญาปทีโป (คาระโก)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๗ ครั้ง
การศึกษาการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจเชิงพุทธของกลุ่มเกษตรกรชาวบ้านหนองบัวแปะตำบลสร้างแซง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการปัญญา ปญฺญาปทีโป (คาระโก) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร. ป.ธ. ๖, พธ.บ.(ภาษาไทย),M.A. (Ling), M.A., Ph.D.(Pali& Bud).
  ผศ.ดร.โสวิทย์บำรุงภักดิ์ ป.ธ.๗,พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Bud.), พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  ดร.ประยูร แสงใส, ดร. ป.ธ. ๔, พ.ม., พธ.บ., P.G. Dip. InJournalism., M.A. (Ed), Ph.D. (Ed).
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                      วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจเชิงพุทธของกลุ่มเกษตรกรชาวบ้านหนองบัวแปะตำบลสร้างแซง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักเศรษฐกิจเชิงพุทธในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักการและกิจกรรมการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจเชิงพุทธของกลุ่มเกษตรกรชาวบ้านหนองบัวแปะ ตำบลสร้างแซง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม และ เพื่อศึกษาผลของการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจเชิงพุทธของกลุ่มเกษตรกรชาวบ้านหนองบัวแปะ ตำบลสร้างแซง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม

                      ผลการศึกษาพบว่าเศรษฐกิจเชิงพุทธ แม้จะมีโครงสร้างที่สามารถอธิบายได้ในรูปแบบของการผลิต การบริโภค และการจำหน่ายเหมือนกับเศรษฐกิจทั่วไปก็ตาม แต่ก็มีเนื้อหาจุดมุ่งหมาย และวิธีการที่แตกต่างกัน หลักธรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น ทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔ มัตตัญญุตา สันโดษ ความรู้จักประมาณ การผลิตและการตลาดจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่มุ่งผลกำไรเป็นที่ตั้ง เพราะจะทำให้เสียสมดุลของกระบวนการเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การบริโภคก็ให้บริโภคด้วยเห็นว่าเป็นคุณค่าของชีวิต ไม่บริโภคเพราะตอบสนองตัณหาไม่มุ่งตอบสนองความต้องการที่เป็นความโลภ

                      กลุ่มเกษตรบ้านหนองบัวแปะมี ๕ กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มบำนาญชาวนา กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ  กลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มทำเครื่องจักสาน และกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทุกกลุ่มล้วนมีหลักการและวิธีการในการทำงาน จึงกล่าวได้ว่าเป็นระบบเกษตรแผนใหม่ที่ตอบปัญหาความต้องการของชาวบ้านได้ มีความเหมาะสมกับสภาพที่เป็นอยู่คือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในฐานะเป็นผู้ผลิต จำหน่าย และบริโภค ลักษณะงานของกลุ่มเกษตรกรมีความสัมพันธ์เกื้อกูลกัน จึงทำให้ไม่สิ้นเปลืองต้นทุนในการผลิตกลุ่มเกษตรกรได้นำหลักสัมมาอาชีวะมาประยุกต์ใช้ในการทำงานของตน จึงทำให้มีความสุขกับการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายจนเกินตัว ปัญหาหรืออุปสรรคในการพึ่งตนเองคือชาวบ้านส่วนหนึ่งยังไม่เห็นความสำคัญของเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองนี้

                      เมื่อชาวบ้านสามารถปลูกผักกินเองได้ ผลิตปุ๋ยเองได้ ทำเครื่องจักสานใช้เองได้ และทอผ้าไหมใช้เองได้ รวมทั้งทำขายได้ด้วย จึงมีระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในหมู่บ้าน เงินทองก็ไม่ไหลออกไปภายนอก ทำให้ป้องกันระบบทุนนิยมได้ดีในระดับหนึ่ง ในส่วนของการศึกษา เมื่อครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ก็สามารถที่จะส่งให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือในระดับสูง ๆ มีหน้าที่การงานดี รูปแบบของการศึกษาและผลของการศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือการได้รับความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจแนวใหม่จากวิทยากรที่มีความรู้ ทำให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้กับอาชีพของกลุ่มเกษตรนั้น ๆ ช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมการทำมาหากินของชาวบ้าน การรวมกลุ่มกันทำให้เกิดสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สอดคล้องกับการดำรงชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาเมื่อชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้นก็สามารถที่จะป้องกันมิจฉาชีพได้ ลดอบายมุขลงได้ ไม่เกิดปัญหาครอบครัวตามมา ไม่เป็นปัญหากับสังคม อยู่ร่วมกันแบบสันติ ทำให้เป็นผลดีต่อการปกครองด้วย

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕