หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิมาน คมฺภีรปญฺโญ (ตรีกมล)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ศีล ๕ ในฐานะเป็นรากฐานของสันติภาพ
ชื่อผู้วิจัย : พระวิมาน คมฺภีรปญฺโญ (ตรีกมล) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร. พธ.บ., M.A. (Philo.) (First Class), M.A.(Politics)(Second Class), M.Phil. (Philo)., Ph.D. (Philo.)
  ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์, ปธ. ๗, พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Bud.),พธ.ด. (พุทธศาสนา)
  .
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                        วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพ  วิเคราะห์การสร้างสันติภาพของหมู่บ้านสาวะถี  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  และหมู่บ้านผือ ตำบลพระลับ  อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  และวิเคราะห์รากฐานของการสร้างสันติภาพตามแนวทางศีล ๕  การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยศึกษาจากพระไตรปิฎก  คัมภีร์พุทธศาสนาอื่นๆ  เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  และศึกษาจากภาคสนามด้วยการสังเกตและสัมภาษณ์  โดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณนา 

                        ผลการวิจัยพบว่า  สันติภาพเป็นสภาวะที่ปราศจากความรุนแรง  และเป็นสภาวะที่ปราศจากการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ  ทั้งความรุนแรงต่อตนเองหรือผู้อื่น  และสิ่งแวดล้อม  แนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพมีอยู่หลายประเภท  นักการศาสนาจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสันติภาพทางจิตที่ปราศจากความรุนแรง  แต่นักเคลื่อนไหวทางสังคมมองว่าสันติภาพเป็นภาวะที่ไม่ถูกกดขี่หรือเอารัดเอาเปรียบ  ในขณะที่นักปฏิบัติการทางสังคมจะมองว่าสันติภาพเป็นภาวะที่ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งทางตรง  ทางอ้อม  ทางโครงสร้างและทางวัฒนธรรม  การสร้างสันติภาพทำได้โดยการควบคุมกิเลสภายในของแต่ละบุคคล  การไม่ก่อความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม  การควบคุมพฤติกรรมด้วยการใช้ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคม  การปรับโครงสร้างและค่านิยมเพื่อไม่ให้เอื้อหรือส่งเสริมการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

                      ในกรณีของชาวบ้านสาวะถีและชาวบ้านผือนั้น  พบว่าชาวบ้านสาวะถีมีความขัดแย้งกับอำนาจภายนอก  ได้แก่  ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์และความขัดแย้งทางวัฒนธรรม  ซึ่งถูกแก้โดยยุติการใช้ความรุนแรง  ไม่บิดเบือนข้อมูล  การยอมรับในอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นนิยมและยกย่องเชิดชูบุคคลสำคัญของชาวบ้าน  ลดภาวะความหวาดระแวง  และการให้ความช่วยเหลือเยียวยา  ส่วนความขัดแย้งภายในหมู่บ้าน ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งแก้ด้วยการเคารพกติกา แข่งขันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม  โปร่งใส  ตรวจสอบได้  และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนภายในหมู่บ้าน  ซึ่งแก้ได้ด้วยกระบวนการสานความสัมพันธ์  ในขณะที่หมู่บ้านผือมีลักษณะเป็นความขัดแย้งทางทรัพยากร  ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยยึดความสัมพันธ์มากกว่ายึดผลประโยชน์  เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรม  โดยทั้ง ๒ หมู่บ้านนำประเด็นความขัดแย้งมาสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน  โดยนำมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดกติกาและตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาข้อพิพาทในรูปของสภาผู้เฒ่า  ในขณะที่จุดแข็งก็คือการมีผู้นำทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง  โดยเฉพาะการนำหลักศีล ๕ มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน     

                     ในส่วนการนำศีล ๕ มาเป็นรากฐานของสันติภาพนั้น  สามารถทำได้ด้วยการนำไปเป็นรากฐานของสันติภาพควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างสังคมแนวราบ  ได้แก่  การนำไปสู่วัฒนธรรมแบบเมตตากรุณาและวัฒนธรรมแบบสันติวิธี  ส่วนโครงสร้างในแนวดิ่ง  ได้แก่  รากฐานทางสังคมในรูปของปิรามิด  โดยนำไปจัดโครงสร้างทางการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  กระบวนการยุติธรรม  และการศึกษา  เพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมโครงสร้างสังคมระดับจุลภาคจนถึงระดับมหัพภาค  ซึ่งเป็นการเชื่อมโครงสร้างและสถาบันสังคมให้ยึดโยงอยู่กับศีล ๕ อันเป็นพื้นฐานของแนวทางสันติวิธี  ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือรากฐานของสันติภาพเชิงคุณค่า  ซึ่งเป็นมโนธรรมสำนึกที่ทำให้เกิดความตระหนักถึงมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนสากล  ทั้งความเสมอภาค  ความยุติธรรม  ภราดรภาพ  สัมพันธภาพ  ดุลยภาพและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ซึ่งจะทำให้สังคมเป็นแบบสวัสดิการที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีความตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต  และการไม่ใช้ความรุนแรงทุกกรณี  ทำให้ชีวิตปราศจากภัยคุกคาม  รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากลำบาก  ทำให้มีสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี  มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจะทำให้เกิดสันติภาพเชิงบวก  ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นแนวทางแก้ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรง ในรูปของตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ  และอกุศลมูล  คือ โลภะ โทสะ โมหะ  ซึ่งศีล ๕ จะเป็นตัวสกัดกั้นและทำลายรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรง  โดยรากฐานเชิงโครงสร้างจะเข้าไปจัดโครงสร้างสังคมไม่ให้เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง  ในขณะที่รากฐานเชิงคุณค่าจะปลุกเร้าให้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต  เพื่อให้อยู่ร่วมกันตามหลักมนุษยชน  ซึ่งเป็นรากฐานของมนุษย์  นอกจากนี้ยังเข้าไปจัดการกับรากเหง้าที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง  โดยจะมีความเชื่อมโยงกันทั้งโครงสร้าง  คุณค่าของมนุษย์และการควบคุมกิเลสภายใน  ซึ่งจะทำให้สันติภาพมีรากฐานที่มั่นคง  ทั้งในระดับจุลภาคและมหัพภาคอย่างยั่งยืนต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕