หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวนงลักษณ์ โพธิ์ยี่
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๕ ครั้ง
ประสิทธิผลการบริหารจัดการสวัสดิการความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวนงลักษณ์ โพธิ์ยี่ ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี, ผศ.ดร. ป.ธ.๙, กศ.ม.,พธ.ด.(พุทธศาสนา)
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม พ.ม., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
  ผศ.ดร.วรกฤต เถื่อนช้าง ป.ธ.๙, ศศ.บ., ศศ.ม., ปร.ด.(บริหารอุดมศึกษา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องประสิทธิผลการบริหารจัดการสวัสดิการความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์  คือ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิผลการบริหารจัดการสวัสดิการความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์  ๒) เพื่อเปรียบเทียบทัศนะของผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์ต่อประสิทธิผลการบริหารจัดการสวัสดิการขั้นพื้นฐาน  โดยจำแนกตามข้อมูลส่วนบุคคล  ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการสวัสดิการความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  คือ ผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์ ศึกษากับผู้ต้องขังหญิงกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๑๙ คน    โดยได้คำนวณหาจำนวนขนาดกลุ่มตัวอย่างจากการสุ่มประชากรโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) จาก จำนวนประชากร  ๕๐๖ คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ที่จัดทำขึ้นเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD ) และสรุปข้อมูลปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ตลอดถึงแบบสัมภาษณ์   โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จำแนกตามมาตรฐานความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ๕ ด้าน 

ผลการวิจัยพบว่า  ความคิดเห็นของผู้ต้องขังหญิงต่อการบริหารจัดการสวัสดิการความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์  ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๘๓) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน คือ ด้านที่นอน/ที่อยู่อาศัย, ด้านการอนามัย,    ด้านเครื่องนุ่งห่ม, ด้านอาหารและด้านการรักษาพยาบาล พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน 

ผลการเปรียบเทียบ พบว่า ผู้ต้องขังหญิงที่มีอายุต่างกัน  มีทัศนะต่อการบริหารจัดการสวัสดิการความจำเป็นขั้นพื้นฐานของเรือนจำกลางนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์  โดยภาพรวม    ไม่แตกต่างกัน(sig = ๐.๐๖๓) จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย  เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน  พบว่า ผู้ต้องขังหญิงที่มีอายุต่างกัน  มีทัศนะต่อการบริหารจัดการสวัสดิการความจำเป็นขั้นพื้นฐานของเรือนจำกลางนครสวรรค์ ในด้านการอนามัยแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนด้านอื่นๆ  ไม่แตกต่างกัน

ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาด้านการบริหารจัดการความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังหญิงในความควบคุมของเรือนจำกลางนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ คือ ๑)ที่นอนคับแคบเนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ต้องขังหญิงมีอัตราเกินความจุ ๒)บริเวณพื้นที่สำหรับใช้ฝึกวิชาชีพ โดยเฉพาะโรงงานฝึกวิชาชีพดอกไม้ อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเท่าที่ควร  ๓) น้ำสำหรับให้ผู้ต้องขังใช้อุปโภค ซักล้างและชำระร่างกายเป็นน้ำที่สูบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงแม้จะผ่านกรองแล้วแต่สียังขุ่นดูไม่ถูกสุขลักษณะ ๔) พื้นที่สำหรับตากผ้ามีไม่เพียงพอ  ๕) ห้องสุขามีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต้องใช้เวลาเข้าแถวรอเข้าห้องสุขานาน  ๖) เครื่องนุ่งห่ม(เครื่องแบบผู้ต้องขัง) และผ้าห่ม ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง  

ส่วนข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข  ได้แก่  ๑) ควรมีโครงการขยายเรือนนอนสำหรับผู้ต้องขังหญิง หรือย้ายระบายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำอื่นๆ ๒) ควรมีโครงการขยายต่อเติมอาคารโรงงานฝึกวิชาชีพดอกไม้ประดิษฐ์ให้เป็นสองชั้น เพื่อลดความแออัด  ๓) ปรับปรุงระบบน้ำอุปโภค สำหรับผู้ต้องขังให้เป็นระบบน้ำประปาทั้งหมด  ๔) กรณีพื้นที่ตากผ้าไม่เพียงพอ ทางเรือนจำควรจัดระบบการซักผ้าแบบอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องใช้พื้นที่ในการตากผ้า ๕) ควรมีโครงการขยายห้องสุขาบริเวณด้านนอกอาคารเรือนนอนเพิ่มเติม ๖) ขอรับจัดสรรงบประมาณ จัดซื้อเครื่องนุ่งห่ม(เครื่องแบบผู้ต้องขัง) ให้มีความเหมาะสมเพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕