หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายสานุ มหัทธนาดุลย์
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๙ ครั้ง
พัฒนาการแนวคิดเรื่องปฐมธาตุของโลกและชีวิต : เหตุผลที่พุทธศาสนาปฏิเสธ
ชื่อผู้วิจัย : นายสานุ มหัทธนาดุลย์ ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ/วันจันทร์), รศ.ดร.ป.ธ.๙, ศษ.บ., พธ.ม., Ph.D (Pali&Buddhist Studies)
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

สารนิพนธ์ฉบับนี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการได้แก่        ๑) เพื่อศึกษาพัฒนาการแนวคิดเรื่องปฐมธาตุของโลกและชีวิต และ ๒) เพื่อวิเคราะห์เหตุผลที่   พุทธศาสนาปฏิเสธแนวคิดเรื่องปฐมธาตุ

ผลการวิจัยพบว่า ปฐมธาตุ (first principle) เป็นแนวคิดที่มีต้นสายมาจากปรัชญา     พระเวทกว่าพันปี ในก่อนยุคสมัยพระพุทธเจ้า ปรัชญาพระเวท และปรัชญาอุปนิษัทมีอิทธิพลครอบคลุมความเชื่อทั่วทุกภูมิภาคของทวีปอินเดียโบราณมาเป็นเวลาช้านาน ปรัชญาทั้ง ๒ มีความเชื่อเหมือนกันว่า สัต (Being) หรือพรหมันเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นปฐมธาตุทั้ง ๒ ฝ่าย คือ  ปุรุษะ และประกฤติ นอกจากนั้น ในยุคนี้ยังเกิดนักคิดชาวกรีกโบราณ ๒ ท่านคือ โฮเมอร์ (Homer) และ เฮซีออด (Hesiod) ผู้มีอิทธิพลต่อปรัชญากรีกในยุคต่อมา แนวคิดเชิงปรัชญาในยุคนี้ล้วนเป็นแบบ จิตนิยมทั้งสิ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวคิดเรื่องปฐมธาตุนี้ไปปรากฏชัดอยู่ในปรัชญากรีกตั้งแต่ สำนักไมเลตุส (School of Miletus) เป็นต้นมาจนถึง อาริสโตเติล (Aristotle) เป็นลำดับสุดท้าย ปรัชญากรีกมีพัฒนาการแนวคิดที่เริ่มจากเอกภาพไปจนถึงพหุภาพ และมีลักษณะเฉพาะตัวที่มีความหลากหลายจนอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องปฐมธาตุของโลกและชีวิตมีสีสรรค์ที่สุดในปรัชญากรีกนี้เอง

เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยพระพุทธเจ้า มีปรัชญา ๓ กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มสสารนิยม กลุ่มจิตนิยม และกลุ่มทวินิยม โดยแบ่งตามระบบปรัชญาอินเดียทั้ง ๖ สำนักรวมถึงปรัชญาเชน ซึ่งต่างก็นำเสนอแนวคิดเรื่องปฐมธาตุของโลกและชีวิตแตกต่างกันออกไปตามพื้นฐานความเชื่อเดิมของตน เมื่อ            พุทธปรัชญาถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางอิทธิพลความเชื่อแบบพราห์มตามคติอินเดียโบราณ เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธความมีอยู่ของ “ปฐมธาตุ” อย่างสิ้นเชิง โดยถือว่าเป็นทิฏฐิความเชื่อเดิมผิด ๆ ที่ว่า “พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก” และทรงหักล้างทิฏฐินั้นลงด้วยหลักคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท และสามัญญลักษณะ อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่อง ธาตุ ๔ ของ          พุทธศาสนากลับมีความเชื่อมโยงไปยังปรัชญาอินเดียโบราณอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือได้ว่าพระพุทธศาสนานำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้และพัฒนาไปเป็นคำสอนเรื่อง “รูป” อย่างลุ่มลึกและพิสดาร

ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าสายแนวคิดเรื่องปฐมธาตุจะสิ้นสุดลงในยุคสมัยพระพุทธเจ้าไปแล้ว แต่ก็ยังพบว่านักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันต่างพยายามหาคำตอบเรื่องกระบวนการกำเนิดจักรวาลด้วยทฤษฎีต่าง ๆ ซึ่งอาจมิได้มุ่งประเด็นสนใจไปที่ปฐมธาตุโดยตรงเหมือนแต่ก่อน แต่หันไปสนใจในการค้นหาความลับของธรรมชาติในเรื่องอนุภาคมูลฐานแทน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕