หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวอินทิรา นวสัมฤทธิ์
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
รูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท (พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พระพุทธศาสนา))
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวอินทิรา นวสัมฤทธิ์ ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๖/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา), ดร. ป.ธ. ๗, พธ.บ. (ภาษาอังกฤษ), ศศ.ม. (พุทธศาสนศึกษา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา).
  ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ป.ธ. ๙, พธ.บ., M.A. (ปรัชญา), อ.ด. (ปรัชญา).
  ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ป.ธ. ๙, พธ.บ., M.A. (ปรัชญา), อ.ด. (ปรัชญา).
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ เพื่อ ๑) ศึกษาเรื่องพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒) วิเคราะห์ความเชื่อและการปฏิบัติของชาวพุทธไทยที่มีต่อพระพุทธเจ้า และ ๓) เสนอรูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการวิจัยพบว่า :

๑)  พระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาเถรวาททรงเป็นมนุษย์ธรรมดาที่เกิด แก่ เจ็บและตาย ตามที่พบในประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดี แต่พระองค์ทรงมีความพิเศษกว่ามนุษย์ทั่วไป คือ  (๑)  องค์ประกอบทางกายภาพประกอบด้วย  ๑. มหาปุริสลักขณะ  ๒. อนุพยัญชนะ และ ๓. พระฉัพพรรณรังสี ที่เกิดขื้นอย่างครบถ้วนในพระองค์ทำให้พระองค์ทรงมีคุณลักษณะของความเป็นผู้นำจากบุคลิกภายนอกที่สร้างศรัทธาต่อผู้พบเห็น และ(๒) องค์ประกอบทางจิตภาพประกอบด้วย  ๑. พุทธคุณ ๙  ๒. ทศพลญาณ ๑๐  และ ๓. โลกุตตรธรรม ๙  เป็นองค์คุณจากการตรัสรู้  ทำให้พระองค์ทรงมีปรีชาญาณหยั่งรู้ในทุกเรื่อง เป็นที่พึ่งอันประเสริฐยิ่ง เป็นพระศาสดา  เป็นบรมครู ผู้ทรงรู้ชัดตามความเป็นจริงของสรรพสิ่งและนำพาให้ศาสนิกพ้นทุกข์ได้จริง

 ๒)  พระพุทธศาสนาเถรวาทมีหลักธรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อที่ชัดเจน คือ ตถาคตโพธิสัทธา แต่ชาวพุทธไทยยังมีความเชื่อนอกเหนือคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ความเชื่อในไสยศาสตร์ จนเกิดเป็นความเชื่อที่ผสมผสานกัน ความเชื่อสัมพันธ์กับพฤติกรรมและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ ถ้ามีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องในพระพุทธเจ้า ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และการกระทำที่ผิดต่อพระองค์ ผู้กระทำไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกรรมที่ได้กระทำนั้น  หลักการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้า คือ (๑) ปฏิบัติตามพุทธประสงค์ ให้ถือพระธรรมวินัย เป็นพระศาสดา และ (๒) เคารพสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ด้วยความเข้าใจในหลักธรรมที่เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนานั้น ๆ สำหรับสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าที่ชาวพุทธไทยต้องเคารพ ได้แก่ ๑) ต้นโพธิ์  ๒) สถูปหรือเจดีย์  ๓) พระบรมสารีริกธาตุ  ๔) ภาพพระพุทธเจ้าและภาพพุทธประวัติ  ๕) ธรรมจักรและรอยพระพุทธบาท  ๖) พระพุทธรูป และ ๗) พระเครื่อง แต่ก็พบปัญหาความไม่เข้าใจและปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ซึ่งก็เท่ากับปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อพระพุทธเจ้า

๓)  รูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท จากการศึกษาพบว่า  ประเด็นที่ ๑  รูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้ามีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเถรวาท  แต่อาจจะไม่ได้บันทึกเป็นเรื่องเฉพาะไว้ เนื่องจากให้ความสำคัญกับหลักธรรมมากกว่าพุทธประวัติ  สำหรับหลักการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้า ได้แก่ (๑) การเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกระทำประทักษิณ  (๒) การถวายการต้อนรับพระพุทธเจ้า และ (๓) การแสดงความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ผู้วิจัยได้นำข้อมูลในพระไตรปิฎก อรรถกถาและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพระพุทธศาสนาเถรวาท มาสร้างเป็นรูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้า และประเด็นที่ ๒  รูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สามารถประยุกต์เป็น (๑) หลักการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้า และ (๒)  รูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาทในอนาคต

ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงจบกระบวนการวิจัยด้วยการศึกษาเรื่องพระพุทธเจ้าและนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕