หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พันเอก ณรงค์ ครองแถว
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๕ ครั้ง
กระบวนการแก้ปัญหาจากระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในส่วนราชการไทยด้วยพุทธบูรณาการ (พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พระพุทธศาสนา))
ชื่อผู้วิจัย : พันเอก ณรงค์ ครองแถว ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๖/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) ผศ.ดร., ป.ธ.๙, M.A., Ph.D.
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์ ป.ธ.๖, พธ.บ. ศษ.บ., M.Pill., M.A., Ph.D.
  ผศ.ดร.ประยูร สุยะใจ ป.ธ.๓, พธ.บ., B.J.,Dipo. Social Research, กศ.ม., M.A.(Psy.),M.A.(Pol.),M.A.(Eco.), Ph.D.(Psy.)
วันสำเร็จการศึกษา : 2556
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาระบบอุปถัมภ์และปัญหาจากระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในส่วนราชการไทย  (๒) เพื่อศึกษากระบวนการแก้ปัญหาจากระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในส่วนราชการไทย (๓) เพื่อศึกษากระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบอุปถัมภ์ในส่วนราชการไทยด้วยพุทธบูรณาการ การวิจัยครั้งนี้ ได้ศึกษาประชากร จำนวน ๓๔ รูป/คน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน ได้แก่ (๑) การบันทึก (Record Form) (๒) แบบสังเกต (Observation form) (๓) การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (the depth Interview form) ใช้วิธีวิเคราะห์แบบค่าเฉลี่ยร้อยละและแบบพรรณนา  (Descriptive Analysis)

                    ผลการวิจัยพบว่า  ระบบราชการไทย ที่มีปัญหาและไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากการเล่นพรรคเล่นพวก และการช่วยเหลือญาติพี่น้อง ปัญหาต่าง ๆ ของระบบราชการไทย สามารถแก้ไขได้โดยนำเอาระบบคุณธรรมเข้ามาแทนที่ระบบอุปถัมภ์  การบริหารและจัดการที่ดีโดยผู้บริหารต้องมีจิตสำนึกที่ดี ไม่มีอคติ ๔ ทั้งนี้ เพราะระบบอุปถัมภ์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกัน โดยมีฐานะทางสังคมแตกต่างกัน คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่า จะใช้อิทธิพลและสิ่งที่มีอยู่คุ้มครองให้ผลประโยชน์แก่ผู้มีฐานะต่ำ  ข้าราชการเมื่อไม่มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ก็จะออกไปหางานอื่นที่มีโอกาสดีกว่า  สร้างปัญหาให้แก่ส่วนราชการนั้นอย่างมาก เป็นอุปสรรคและเป็นสิ่งที่บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยราชการเป็นอย่างยิ่ง เพราะระบบอุปถัมภ์ไม่พิจารณาความรู้ความสามารถ ผลงานหรือแม้แต่ความอาวุโส  จึงทำให้บุคลากรในหน่วยงานไม่เห็นความสำคัญของการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

                   สังคมแบบพุทธเป็นสังคมแห่งการเกื้อกูลกันระหว่างพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา  โดยฝ่ายอุบาสกและอุบาสิกา จะเป็นผู้เกื้อกูลอุปถัมภ์บำรุงภิกษุ ภิกษุณี ด้วยปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช  ฝ่ายภิกษุและภิกษุณีก็จะเกื้อกูลอุบาสกและอุบาสิกาด้วยการแนะนำหลักการแห่งการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีหลักพรหมวิหาร ๔ อคติ ๔ และสังคหวัตถุ ๔  เป็นอาทิ  การที่พระสงฆ์ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงด้วยอามิสทานและอามิสบูชาจากอุบาสกและอุบาสิกานั้น ถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้มีส่วนช่วยในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองและแพร่หลายดำรงคงมั่นมาจนถึงปัจจุบัน

หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ต้องมีจิตสำนึกที่จะรับผิดชอบชั่วดี ในการบริหารและจัดการหน่วยงานของตน ต้องยึดหลักเหตุผลและความยุติธรรม ให้ความเสมอภาคและสิทธิเท่าเทียมกันหมดกับทุกคนในองค์กร ต้องไม่ใช้ระบบเส้นสาย ใช้ระบบคุณธรรมเข้ามาแทนที่ระบบอุปถัมภ์ พิจารณาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลัก ในการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ เลื่อนขั้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่ง ไม่พิจารณาว่าเป็นคนของใคร เป็นญาติพี่น้องหรือเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย  พิจารณาที่ผลงาน โดยปฏิบัติตามที่  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงวางรากฐานระบบราชการพลเรือนไว้เป็นหลักที่สำคัญคือ  ๑) ให้ข้าราชการพลเรือนทั้งหมดอยู่ภายใต้ระเบียบเดียวกัน  ๒) ให้เลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการโดยเสมอภาคและยุติธรรม

 ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งระบบการปกครองของประเทศเป็นแบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติโดยผ่านรัฐสภาได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบอุปถัมภ์ในส่วนราชการไทย ที่สำคัญคือ  ๑) การรับบุคลากรเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และประโยชน์ทางราชการ  ๒) ให้ส่วนราชการมีหน้าที่ดำเนินการให้มีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพ และเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ข้าราชการพลเรือน เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนมีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

 ผู้บังคับบัญชาจะต้องนำพุทธธรรมมาบูรณาการในการบริหารบุคคล และบริหารงานแบบธรรมาธิปไตย ไม่มีอคติ ๔ มีสาราณียธรรม ๖ และสัปปุริสธรรม ๗ ได้แก่ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน และรู้จักบุคคล  ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบอุปถัมภ์ในส่วนราชการไทยได้

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕