หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเอกนรินทร์ เอกนโร (วงษ์ขันธ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๐ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องบุญในพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (๒๕๓๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเอกนรินทร์ เอกนโร (วงษ์ขันธ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๐๖/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๖
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมาย ที่จะศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องบุญในพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยศึกษารวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์ไบเบิ้ล และวรรณกรรมทางศาสนาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบุญ
           ผลของการศึกษามีข้อสรุปที่สำคัญ คือ คำว่า บุญในพุทธปรัชญา มีความหมายแตกต่างจากคำว่าบุญในปรัชญาคริสต์ ทั้งนี้เพราะพื้นฐานของพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม ส่วนคริสตศาสนาเป็นเทวนิยม เพราะฉะนั้นลักษณะสำคัญของศาสนาคริสต์ คือ ความสัมพันธ์แห่งความรักและความศรัทธาระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า แต่ลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาคือความศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ อริยสัจ ๔ และการคิดใคร่ครวญด้วยเหตุผลอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) แต่สิ่งที่คล้ายกันระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนั้น  คือ มีหลักการในการทำบุญคล้ายกัน โดยในฝ่ายพระพุทธศาสนามีการให้ทาน การรักษาศีลและเจริญภาวนา ส่วนในฝ่ายคริสตศาสนาก็มีการให้ทาน มีการรักษาพระบัญญัติ (ซึ่งเทียบได้กับการรักษาศีล) และมีการภาวนา (การแสดงความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า) หรือการสวดอธิษฐานเป็นต้น จะต่างกันก็เฉพาะข้อปฏิบัติในขั้นตอนของการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น วิธีการที่ก่อให้เกิดบุญของพระพุทธศาสนา บุญจะเกิดขึ้นได้ต้องลงมือกระทำด้วยตนเอง  ส่วนของคริสตศาสนาบุญจะเกิดขึ้นได้ต้องลงมือทำเองด้วย และต้องได้รับการประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้าด้วย ส่วนอานิสงส์หรือผลของบุญมีความคล้ายกัน โดยเป้าหมายในการทำบุญของพระพุทธศาสนานั้น เริ่มต้นมาจากต้องการความสุขในชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะความสุข ความปีติทางใจ ความสุขในโลกหน้า (สวรรค์) และจะเป็นปัจจัยให้ถึงจุดหมายสูงสุด คือพระนิพพานต่อไป สำหรับเป้าหมายของการทำบุญในคริสตศาสนา ก็เพื่อต้องการความสุขในชีวิตปัจจุบันความปิตีใจเช่นกัน และเพื่อความมีชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้าด้วย
           ส่วนการแสดงพฤติกรรมของศาสนิกชนทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้แสดงออกต่อความเชื่อเรื่องบุญมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือการปฏิบัติตามลำพังด้วยความเชื่อหรือความศรัทธาของตน เช่น การให้ทานรักษาศีล หรือปฏิบัติตามพระบัญญัติ การสวดมนต์เจริญภาวนา หรืออธิษฐานจิต เป็นต้น และแสดงออกในลักษณะของกิจกรรมกลุ่ม เช่น การรักษาศีล ๘ ร่วมกัน การทำบุญทอดผ้าป่า  การทอดกฐินของชาวพุทธ  การเฝ้าศีลมหาสนิท การร่วมเดินรูป ๑๔ ภาค การออกช่วยเหลือคนทุกข์ยากของชาวคริสต์ เป็นต้น ซึ่งผู้ทำนั้นมีความเชื่อว่า การกระทำของตนเป็นการสร้างบุญและมีความสุขใจต่อการกระทำกิจกรรมนั้น ๆ ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ต่างก็มีความเชื่อสอดคล้องกันว่า รูปแบบการปฏิบัติในพิธีกรรมทางศาสนาจะเป็นพื้นฐานอันสำคัญ ที่จะนำบุคคลไปสู่การกระทำความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป.

Download : 253611.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕