หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระธนกร กิตฺติปญฺโญ (สร้อยศรี)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๓ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก
ชื่อผู้วิจัย : พระธนกร กิตฺติปญฺโญ (สร้อยศรี) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
  ดร.แสวง นิลนามะ
  ดร.สุวภรณ์ แนวจำปา
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและกระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดและกระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายตามคำสอนทางคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดและกระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก 

ผลการวิจัยพบว่า ทัศนะทางพระพุทธศาสนาเถรวาทถือว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายคือ ผู้ที่ถูกโรคภัยไข้เจ็บครอบงำย่ำยีอย่างหนัก อยู่ในภาวะถูกภัยคือมรณะคุกคาม อยู่ช่วงเวลาใกล้ตายไม่เกิน ๑ ถึง ๒ ชั่วโมงก่อนจุติจิตเกิดขึ้น มีอาการทางกายที่สังเกตเห็นได้เช่น มีความเจ็บปวดเร่าร้อนเกิดทุกขเวทนาอย่างสาหัส มีอาการทางจิตเช่นท้อแท้หดหู่เซื่องซึมเหงาหงอยเบื่อหน่าย จิตเป็นมโนภาพปรากฏแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตาย เรียกว่า ธรรมารมณ์ แบ่ง ๓ คือ (๑) กรรมารมณ์ นึกถึงกรรมที่ตนทำไว้ส่วนมากเป็นกรรมหนัก (๒) กรรมนิมิตารมณ์ นึกถึงอุปกรณ์ในการทำกรรมดีหรือไม่ดี (๓) คตินิมิตารมณ์ นึกถึงภพภูมิที่จะไปเกิดหลังตาย ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลจึงควรมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน ช่วยประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยให้สะอาด สว่าง สงบ ให้การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ให้ผู้ป่วยมีสติไม่หลงลืม มีความสำราญแช่มชื่น ไม่ขุ่นมัว เพื่อไปสู่สุคติหลังจากตาย จุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ทำชีวิตให้มีคุณภาพ สุขภาพ และสมรรถภาพก่อนตาย มีจิตผ่องแผ้วในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และพระนิพพาน
และในทรรศนะคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตาย พระองค์มิได้สร้างความตายขึ้นและมิได้ยินดีต่อการสูญเสียสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์ แต่ด้วยผลของบาปกำเนิดทำให้มนุษย์ต้องประสบกับความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน และความตาย อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นแผนการของพระองค์ตั้งแต่การสร้างโลกแล้ว การที่มนุษย์ต้องเผชิญความตายถือว่ามีส่วนร่วมในพระมหาทรมานและการไถ่กู้กับพระเยซูคริสต์ ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตนิรันดร ความตายจึงไม่ใช่สิ่งสุดท้าย ความตายเป็นเพียงการจบชีวิตบนโลกนี้เท่านั้น ซึ่งคริสตชนเชื่อว่ายังมีชีวิตหลังความตาย ดังนั้น คริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกจึงสอนให้มนุษย์เผชิญหน้ากับความตายด้วยตนเอง คริสตชนต้องไม่กลัวตาย เพราะความตายถือได้ว่าเป็นเป้าหมายของมนุษย์ทุกคน นอกจากนี้ คริสตชนควรมีส่วนร่วมในการตายของผู้อื่นด้วย โดยให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตาย ให้เขาเดินทางผ่านความตายอย่างสงบ ไปสู่ชีวิตนิรันดร โดยนำคำสอนทางหลักทางคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกมาเป็นพื้นฐานในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตาย สามารถมีวิธีไปสู่ความสงบได้ คริสต์ศาสนายังมีส่วนช่วยให้ผู้อื่นเผชิญหน้ากับความตาย โดยการนำการอภิบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และความรักที่ยิ่งใหญ่ที่มีต่อศาสนา โดยเชื่อว่า พระเจ้าจะตอบแทนความดีแก่ผู้ที่ทำความดีกับผู้อื่น ส่วนในการเตรียมเผชิญความตายนั้น ได้นำหลักคำสอนและพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกมาช่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตายได้เตรียมตัวอย่างสงบ เดินทางไปหาพระเจ้า สู่ชีวิตนิรันดร
สรุปเปรียบเทียบพระพุทธศาสนาเถรวาทและคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก ต่างให้ความสำคัญเรื่องชีวิต ความทุกข์ และความตาย ว่าเป็นธรรมชาติสำคัญของชีวิต ชีวิตและความทุกข์มีทั้งโลกปัจจุบันและโลกอนาคต ซึ่งโยงกับความเชื่อในสิ่งที่สูงสุด ความทุกข์มีสาเหตุสำคัญและสามารถแก้ไขได้ด้วยความประพฤติที่ดีงามของมนุษย์ โดยการมีศรัทธา ความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต และการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนและกฎศีลธรรม หลักคำสอนเหล่านั้น แม้ไม่ได้ระบุถึงโรคและการรักษาโรคต่างๆ โดยตรง แต่ประเด็นนี้สามารถพิจารณาคำสอนทางศาสนาดังกล่าวมารองรับ และสามารถแก้ไขให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ ทั้งบุคลากรผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเอง
แม้จะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องหลักธรรมคำสั่งสอนและพิธีกรรม อย่างไรก็ตาม ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้ตาย ทั้งสองศาสนาได้ประยุกต์หลักธรรมและคำสอนให้เข้ากับบุคลากรและผู้ป่วยตามหลักความเชื่อและข้อปฏิบัติที่มีอัตลักษณ์เฉพาะและเป็นวิธีที่เหมาะสม

ดาวน์โหลด


 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕