หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเจษฎา โชติวํโส (จุลพันธ์)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๓ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการเจริญสติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และท่านติช นัท ฮันห์
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเจษฎา โชติวํโส (จุลพันธ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชสิทธิมุนี วิ., ดร.
  พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย, ดร.
  ดร. ณัทธีร์ ศรีดี
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การศึกษาวิจัยนี้   มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ  คือ  ๑) เพื่อศึกษาวิธีการเจริญสติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ๒)  เพื่อศึกษาวิธี กับการเจริญสติของท่านติช นัท ฮันห์ และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบวิธีการเจริญสติของพ่อเทียน  จิตฺตสุโภ กับการเจริญสติของท่านติช นัท ฮันห์

ผลการวิจัยพบว่าการเจริญสติในความหมายของพระพุทธศาสนาเถรวาทกับพระพุทธ-ศาสนามหายาน  มีนัยเหมือนกันคือการฝึกสติให้ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ ที่บังเกิดอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม  อันเป็นคุณเครื่องให้กุศลจิตเจริญ  ยับยั้งอกุศลจิต  มีเป้าหมายเพื่อความสุขในชีวิตทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ  ส่วนมหายานมุ่งหมายถึงการปลูกฝังโพธิจิตเข้าด้วย
แนวคิดเรื่องการเจริญสติในมุมมองของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และท่านติช นัท ฮันห์ มีนัยที่เหมือนกัน คือการเจริญสติเพื่อควบคุมจิตใจที่คิดปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา  หรือการอยู่เหนือจิตให้พ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ เพื่อเข้าสู่ความพ้นจากทุกข์ และบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธ-ศาสนา
วิธีการเจริญสติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ กับท่านติช นัท ฮันห์ มีนัยที่คล้ายคลึงกัน คือการใช้สติกำกับพฤติกรรมของตนเอง  ให้รู้อยู่กับปัจจุบันขณะ  ทั้งอิริยาบถใหญ่ และอิริยาบถย่อยทุกอย่าง  หมายถึง การไม่ละสติที่เป็นไปในกายของตนเองทุกขณะ มีวิธีการสร้างรูปแบบการปฏิบัติต่างกัน  โดยหลวงพ่อเทียนเน้นการใช้สติจับความเคลื่อนไหวไม่เน้นคำบริกรรม  ส่วนท่านติช นัท ฮันห์ เน้นรูปแบบปฏิบัติที่ใช้อุปกรณ์ภายนอกช่วย เช่น ใช้เสียงในการบริกรรม  กล่าวโศลก  บทกลอน สวดมนต์ หรือกระทั่งการใช้เสียงดนตรี เสียงระฆังเป็นตัวช่วยในการเร้าสติให้อยู่กับตน
การเจริญสติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ กับท่านติช นัท ฮันห์ มีเป้าประสงค์เหมือนกัน คือการใช้สติกำหนดอยู่กับปัจจุบันขณะ  มุ่งควบคุมจิตเพื่อให้ปราศจากความทุกข์  และการอยู่เหนือความทุกข์อันเป็นเป้าหมายสูงสุด คือการเข้าถึงพระนิพพาน หรือการหมดสิ้นจากกิเลสอาสวะทั้งมวลนั่นเอง

ดาวน์โหลด

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕