หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สินชัย คงไทย
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๖ ครั้ง
การบริหารจัดการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานีตำรวจภูธรลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : สินชัย คงไทย ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตติปญฺโญ,ดร.
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาระดับการบริหารจัดการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานีตำรวจภูธรลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และ ๒) ศึกษาปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานีตำรวจภูธรลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรลาดยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๑๓๖  คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย() ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน () วิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis techniques)

ผลการวิจัยพบว่า
๑. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุอยู่ระหว่าง ๔๑-๕๐ ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรี ระยะเวลาในการปฏิบัติงานอยู่ระหว่าง ๑๑ – ๒๐ ปี  มีชั้นยศประทวน รายได้ระหว่าง ๒๐,๐๐๑ – ๓๐,๐๐๐ บาท
๒. ระดับการบริหารจัดการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานีตำรวจภูธรลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ในระดับมาก (= ๓.๔๘) และเมื่อจำแนกรายด้านพบว่า ด้านความมีเหตุผล ด้านการมีภูมิคุ้มกันที่ดี อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านความพอประมาณ ด้านความรู้ และเงื่อนไขด้านคุณธรรม อยู่ในระดับปานกลาง
๓. ปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานีตำรวจภูธรลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า ด้านความมีเหตุผล การบริหารโดยไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่และไม่ให้ความสำคัญต่อข้อมูลย้อนกลับ (feedback) ด้านความพอประมาณ การจัดสรรทรัพยากรให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในสถานีตำรวจเป็นแบบไม่เหมาะสม ด้านการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่มีระบบการบริหารงานที่มีเอกภาพ เงื่อนไขด้านความรู้ สถานีตำรวจไม่ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ เท่าที่ควร เงื่อนไขด้านคุณธรรม การบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น การแต่งตั้ง โยกย้าย การเลื่อนขั้น การประเมินผลปฏิบัติงาน ไม่ยึดหลักความยุติธรรม
ข้อเสนอแนะ มีดังนี้ ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่และข้อมูลย้อนกลับ (feedback) จากส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ใช้อำนาจในการสั่งการ การมอบหมายงานของผู้บังคับบัญชาระดับต่าง ๆ ในสถานีตำรวจอย่างเหมาะสม จัดสรรทรัพยากรให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในสถานีตำรวจให้เหมาะสม กระจายอำนาจการบริหารงานให้กับหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นธรรม ตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในแต่ละปีของสถานีตำรวจสอดคล้องกับทรัพยากรที่สถานีตำรวจมีอยู่ เน้นความประหยัด มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในองค์กรอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ เท่าที่ควร มีการจัดอบรมให้ความรู้ เพื่อเพิ่มสมรรถนะและความสามารถให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนขั้น ยึดหลักความยุติธรรม และประเมินจากผลการปฏิบัติงาน

ดาวน์โหลด

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕