หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาศิริชัย สิรินฺทญาโณ (ศรีรัมย์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๓ ครั้ง
การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาศิริชัย สิรินฺทญาโณ (ศรีรัมย์) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม
  ผศ.ชวัชชัย ไชยสา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์    ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อ การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล         ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ      การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอลำปลายมาศ     จังหวัดบุรีรัมย์

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน ๒๕๕ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ ๐.๙๘๐ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวน     ทางเดียว (One Way ANOVA) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑) การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล ความคิดเห็นของบุคลากรโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = ๓.๓๖๐) เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน โดยสามารถเรียงลำดับความคิดเห็นของบุคลากรจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ ความคิดเห็นด้านการประเมินและการควบคุม ( = ๓.๓๙๑) ด้านการนำไปปฏิบัติ ( = ๓.๓๗๗) ด้านการวิเคราะห์ ( = ๓.๓๔๖) ด้านการกำหนด ( = ๓.๓๒๗)
๒) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อ การจัดการทรัพยากรมนุษย์   เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง และสังกัด พบว่า บุคลากรที่มี เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง และสังกัด ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล      ในอำเภอลำปลายมาศจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่แตกต่างกัน 
๓) ปัญหา อุปสรรค เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล พบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลขาดการตั้งเป้าหมาย/ภารกิจด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์การไว้โดยเฉพาะ ทำให้งานด้านทรัพยากรมนุษย์มีเป้าหมายในการดำเนินการไม่แน่นอน และยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านการวิเคราะห์การจัดการทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะ ทำให้การกำหนดแผนงานด้านการจัดทรัพยากรมนุษย์ไม่ชัดเจนส่งผลให้เกิดปัญหาในการนำแผนไปปฏิบัติ ทั้งยังมอบหมายงานให้บุคลากรไม่ตรงกับความสามารถ และยังขาดงบประมาณด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และยังขาดการประเมินผลและการติดตามที่ชัดเจน ทั้งยังขาดการเปรียบเทียบผลของการปฏิบัติจริงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ นำไปสู่การขาดการทบทวนกลยุทธ์ที่นำไปใช้ ทำให้ขาดการแก้ไขปรับปรุงกลยุทธ์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง    
ส่วนด้านข้อเสนอแนะ องค์การบริหารส่วนตำบลควรตั้งเป้าหมาย/ภารกิจด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์การไว้โดยเฉพาะ จะทำให้งานด้านทรัพยากรมนุษย์มีเป้าหมายในการดำเนินการที่แน่นอน และควรสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านการวิเคราะห์การจัดการทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะ จะทำให้การกำหนดแผนงานด้านการจัดทรัพยากรมนุษย์ชัดเจน ส่งผลให้ไม่มีปัญหาในการนำแผนไปปฏิบัติ ทั้งยังต้องมอบหมายงานให้บุคลากรให้ตรงตามความสามารถ และยังต้องจัดสรรงบประมาณด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะ และควรมีการประเมินผลและการติดตามที่ชัดเจน ทั้งควรมีเปรียบเทียบผลของการปฏิบัติจริงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ อันจะนำไปสู่การทบทวนกลยุทธ์ที่นำไปใช้ ทำให้เกิดแก้ไขปรับปรุงกลยุทธ์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง
๔) ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคคลผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สามารถสรุปได้ดังนี้ กระบวนการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น เริ่มแต่การวิเคราะห์บุคลากรว่าเพียงพอต่องานที่องค์การบริหารส่วนตำบลมีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็จัดหาให้มีขึ้น    ตามกรอบอัตรากำลังของแต่ละหน่วยงาน ส่วนการได้มาซึ่งบุคลากรนั้นมีตั้งแต่การจัดสอบและบรรจุแต่งตั้งโดยที่องค์การบริหารส่วนตำบลต้องเปิดอัตรากำลังไว้รับรอง เมื่อได้บุคลากรนั้นมาแล้วก็จะมีการจัดการอบรม สัมมนา ทั้งโดยองค์การบริหารส่วนตำบลเอง และหน่วยงานราชการหรือเอกชนส่วนอื่น เพื่อพัฒนาบุคลากรที่ได้มาแล้วเหล่านั้นให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติงาน และที่สำคัญคือเมื่อได้บุคลากรมาแล้วต้องสามารถปรับตัวเข้ากับประชาชนที่ตนให้บริการได้ องค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถแล้ว ก็มีแนวทางได้การรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไว้กับองค์การให้ได้นานๆ ได้นั้น ก็โดยที่ผู้บริหารดูแลบุคลากรในส่วนงานของตน โดยการใช้หลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา พัฒนาบุคลากรตามกรอบศีล สมาธิ และปัญญา        ให้เกียรติกัน มีความจริงใจแก่กัน ให้กำลังใจในการทำงาน เมื่อบุคลากรทุกคนในองค์การทำงานโดยความสบายใจ เป็นมิตร มีไมตรีแก่กันแล้ว การทำงานของทุกคนก็จะเป็นการทำงานที่มีความสุข

ดาวน์โหลด


 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕