หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระกนกพงศ์ สมจิตฺโต (หอมสุวรรณ)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
แนวทางการสร้างเครือข่ายการให้บริการสุขภาพแก่พระสงฆ์ของ โรงพยาบาลบางปลาม้าและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระกนกพงศ์ สมจิตฺโต (หอมสุวรรณ) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ, รศ.
  ดร.ยุทธนา ปราณีต
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการสร้างเครือข่ายการให้บริการสุขภาพ ๒) เพื่อศึกษาระบบการบริการสุขภาพแก่พระสงฆ์ของโรงพยาบาลอำเภอบางปลาม้าและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในอำเภอบางปลาม้า ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการสร้างเครือข่ายการให้บริการสุขภาพแก่พระสงฆ์ของโรงพยาบาลอำเภอบางปลาม้าและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในอำเภอบางปลาม้าจังหวัดสุพรรณบุรี การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และสังเกตการณ์จากบริบทต่างๆ ของโรงพยาบาล

ผลการวิจัยพบว่า 
๑) ปัจจุบันได้เน้นการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัดให้มีมาก และหน่วยบริการปฐมภูมิ มีแนวโน้มในด้านการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินการจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มเงินบำรุงของหน่วยบริการเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังพบว่าการจัดการสนับสนุนนี้ไม่สม่ำเสมอในแต่ละเครือข่าย และแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค 
๒) ระบบบริการสุขภาพเป็นระบบที่จัดบริการสุขภาพในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษายาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างผสมผสานแก่ประชาชน รัฐมีหน้าที่กำกับดูแลให้ระบบมีความเป็นธรรมทั่วถึง มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งระบบบริการสุขภาพประกอบด้วยระบบย่อยต่างๆ ซึ่งแต่ละระบบมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน การที่ภาครัฐจัดให้มีบริการหลายระดับ ทำให้โอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนที่จัดโดยบริการในระดับที่สูงขึ้นลดลง ซึ่งข้อเท็จจริง คือ บริการสุขภาพแต่ละระดับเชื่อมโยงกันด้วยระบบส่งต่อ (Referral System) หากระบบส่งต่อมีประสิทธิภาพ ปัญหาการเข้าถึงบริการในระดับที่สูงขึ้นก็จะหมดไป ระบบบริการสุขภาพจึงสามารถจัดแบ่งได้หลายระดับ โดยในแต่ละระดับจะมีจำนวนประชากรที่รับผิดชอบแตกต่างกัน มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน และเชื่อมโยงกันด้วยระบบส่งต่อ เพื่อให้สามารถจัดบริการสุขภาพที่ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 
๓) ปัจจุบันมีความจำเป็นในการพัฒนาการจัดระบบในรูปแบบเครือข่าย แทนการขยายโรงพยาบาล โดยใช้หลักการที่สามารถเชื่อมโยงบริการทั้ง ๓ ระดับเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์และการคมนาคม โดยไม่มีเส้นแบ่งของการปกครองหรือการแบ่งเขตตรวจราชการ เป็นตัวขวางกั้น ทั้งนี้ในการพัฒนาโรงพยาบาลระดับต่างๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายบริการ เพื่อให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งเติบโตอย่างมีทิศทาง มีภารกิจหน้าที่ชัดเจน มีจังหวะก้าว และเกื้อหนุนซึ่งกันและกันภายในเครือข่าย ซึ่งโรงพยาบาลแม่ข่าย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เจ้าหน้าที่สาธารณะสุข อาสาสมัครสาธารณะสุข ร่วมทั้งเครือข่ายภาคีมีภารระในการพัฒนาการให้บริการสุขภาพทำร่วม คือ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการควบคุมป้องกันโรค ด้านการฟื้นฟูสภาพ
ข้อเสนอแนะ ในปัจจุบันภาครัฐควรมีการใส่ใจ และทุ่มเทในเรื่องสุขภาพมากขึ้น มีจัดการบริการสุขภาพในเชิงรุก ตลอดจนการพัฒนาส่งเสริมให้มีการดูแลสุขภาพแบบองค์ร่วม ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพที่มีอยู่ในชุมชน ส่วนในด้านการส่งเสริมสุขภาพนั้น ควรที่จะมีการจัดรูปแบบในการดำเนินงานแบบต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ คือ ไม่ทำงานเฉพาะในช่วงที่ต้องส่งผลงานเท่านั้น ยังต้องทำงานอย่างสม่ำเสมอ ส่วนในด้านของประสิทธิภาพ ควรที่ต้องสร้างการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพผู้ป่วย มีส่วนร่วมในการคิดกิจกรรมที่จะส่งเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน ร่วมถึงการกระจายการบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ และประชาชนอย่างเท่าเทียม

ดาวน์โหลด

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕