หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาธัชธร สิริมงฺคโล (มาตรา)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
การจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาธัชธร สิริมงฺคโล (มาตรา) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.ชาญชัย ฮวดศรี
  ดร.ปัญญา คล้ายเดช
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑. เพื่อศึกษาปัจจัยลักษณะส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม ๒. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการจัดการการท่องเที่ยวของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ๓. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ๔. เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Method) โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) ภายในวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวชมวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน ๓๘๒ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๕๓ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ  ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage)  ค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบ (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way analysis of variance) และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญที่น้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD.)

ผลการวิจัยพบว่า
๑. นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน ๒๗๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๐.๗ อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี มีจำนวน ๑๖๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๔.๐  มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ๑๔๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๙.๐ มีอาชีพนักเรียน/นักศึกษาจำนวน ๒๑๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๓ 
๒. นักท่องเที่ยวมีความคิดเห็นต่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( =๔.๓๒) เมื่อพิจารณาในแต่ละด้านพบว่า นักท่องเที่ยวมีความคิดเห็นต่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ด้านสถานที่  ด้านการสร้างแรงจูงใจและ ด้านการให้บริการ อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๓. นักท่องเที่ยวที่มีอายุและอาชีพต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ไม่แตกต่างกัน จึงไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนนักท่องเที่ยวที่มีการศึกษาต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕ จึงเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
๔. นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยววัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น  มีความคิดเห็นต่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธ ดังนี้
๔.๑ ด้านการพัฒนาจิตใจและปัญญา นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และหลักการในการทำบุญให้ทาน เห็นคุณค่าของพุทธศิลป์ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ได้รับความรู้ในการพัฒนาปัญญา ได้รับความรู้ในการฝึกสมาธิและปัญญา ได้รับความรู้และหลักธรรมเพื่อความกตัญญูรู้คุณ
๔.๒ ด้านการดำเนินชีวิต  นักท่องเที่ยวดำเนินชีวิตด้วยความมีสติ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ประมาทในชีวิต มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก ดำเนินชีวิตตามทำนองคลองธรรม 
๔.๓ ผลที่ได้รับจากการเดินทางมาท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวรู้สึกมีความสุข จิตใจที่ฟุ้งซ่านก็สงบลง และมีสติมากขึ้น เมื่อมีสติมากขึ้น ก็ทำให้ทำงานได้ดีขึ้น ประสบความสำเร็จมากขึ้น มีกำลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรคและผ่านพ้นไปได้ ต่อไปภายภาคหน้า จะกลับมากราบไหว้อีกเพื่อเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อไป ทำให้มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิติมากขึ้น จิตใจที่กำลังกระวนกระวายว้าวุ้นที่วุ่นว่ายก็ระงับ เมื่อได้พบกับสิ่งที่ร้ายก็กลายเป็นดี
๕. แนวทางในการพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น คือ ด้านสถานที่ควรช่วยกันรักษาและร่วมกันพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องของความสะอาด เพราะความสะอาดถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว  ด้านการให้บริการ ควรเพิ่มสถานที่จอดรถ ห้องน้ำและปรับปรุงบริการร้านค้าร้านอาหาร เพิ่มถังขยะ  เพื่อสร้างความสะดวกแก่ผู้มาเที่ยว ส่วนด้านการสร้างแรงจูงใจ ควรเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมความรู้ กิจกรรมพัฒนาด้านจิตใจและปัญญา ควรมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของวัดผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ข้อมูลของการท่องเที่ยวและให้วัดเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕