หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระหล้า อมรเมโธ (มูลใจทราย)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๔ ครั้ง
การวิเคราะห์ตำนานสิหิงคนิทานในล้านนา
ชื่อผู้วิจัย : พระหล้า อมรเมโธ (มูลใจทราย) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปริยัติยานุศาสน์
  พระมหาดวงจันทร์ คุตฺตสีโล
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

               วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ : ๑  เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและบริบท ของการเขียนตำนานสิหิงคนิทาน  ๒  เพื่อศึกษาอิทธิพลของตำนานสิหิงคนิทานต่อพระพุทธศาสนาในล้านนา ๓  เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาตำนานสิหิงคนิทาน  ที่มีผลกระทบต่อสังคมล้านนา

          ผลการวิจัยพบว่าการแต่งตำนานต่าง ๆ ในล้านนาไม่ว่าจะเป็นตำนานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือประวัติศาสตร์ของอาณาจักรต่าง ๆ มีแนวการเขียนในรูปแบบคล้ายคลึงกันคือเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาโดยตรง และเนื้อหาที่เป็นประวัติศาสตร์หรือแฝงไว้ ซึ่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองหรืออาณาจักร ตำนานสิหิงคนิทานซึ่งรจนาขึ้นโดยพระโพธิรังสีเถระเนื้อหาได้บอกเล่าประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์ และเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคสมัยนั้น กล่าวได้ว่า ตำนานสิหิงคนิทานเป็นการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองและการศาสนา ที่เข้ามาตั้งมั่นในล้านนาอย่างสมบูรณ์ และมั่นคงแข็งแรงนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

         อิทธิพลของตำนานสิหิงคนิทานก่อให้เกิดงานพุทธศิลป์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและเป็นที่แพร่หลายได้กลายเป็นแม่แบบของการเขียนประวัติพระพุทธรูปในกาลต่อมา อีกทั้งยังเป็นการรองรับพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งได้กลายเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ และสร้างขึ้นเพื่อการสักการบูชา ส่งผลต่อความเชื่อและความศรัทธาจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ  มีความเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปอันเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เพราะการที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มีพุทธศิลปะอันงดงาม ถูกต้องตามมหาปุริสลักษณะ นอกจากนี้แล้ว ตำนานสิหิงคนิทาน ยังได้แฝงหลักพุทธธรรมไว้เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา และเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตอีกด้วย

       ตำนานสิหิงคนิทานนำมาสู่การวิเคราะห์ได้ว่า ยุคแห่งความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนส่งผลให้พระโพธิรังสีมหาเถระได้รจนาคัมภีร์สิหิงคนิทานขึ้น โดยยึดเอาคัมภีร์มหาวงศ์เป็นหลักในการแต่งพระโพธิรังสีมหาเถระได้ยกเอาพระพุทธรูปเป็นเหตุแห่งการแสดงประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์พระพุทธสิหิงค์ได้กลายเป็นอัตลักษณ์แห่งล้านนาเป็นพุทธศิลป์ที่ทรงคุณค่ามีความหมายที่แฝงไปด้วยพุทธปรัชญาและแรงศรัทธาแห่งผู้คนก่อเกิดเป็นงานพุทธศิลป์แม่แบบแห่งพุทธพิมพ์ของพุทธสิหิงคปฏิมาที่แพร่หลายไปทั่วทั้งดินแดนแห่งล้านนา

      จะเห็นได้ว่าการวิจัย แสดงให้เห็นถึงตำนานสิหิงคนิทาน มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่มีพัฒนาการสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานจนกลายเป็นแบบแผนเฉพาะอันแสดงถึงความเจริญและมีเอกลักษณ์ของตนเองสะท้อนถึงความเชื่อและความศรัทธาอันก่อให้เกิดเป็นประเพณีและวัฒนธรรมมีอิทธิพลและหล่อหลอมชาวล้านนามีโลกทัศน์ ภูมิปัญญา และบุคลิกภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะมาจนถึงทุกวันนี้   

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕