หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอดุลย์ ฐิตมโน (โพธิไสย์)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๗ ครั้ง
ศึกษาทิฏฐธรรมเวทนียกรรมในพระพุทธศาสนาและสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระอดุลย์ ฐิตมโน (โพธิไสย์) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ศศิวรรณ กำลังสินเสริม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

       วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์    ประการ  คือ  (๑)   เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องทิฏฐธรรมเวทนียกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  (๒)  เพื่อศึกษาความเชื่อทิฏฐธรรม-เวทนียกรรมในสังคมไทย  (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อทิฏฐธรรมเวทนียกรรมในพระพุทธศาสนาและสังคมไทย  โดยใช้การสัมภาษณ์เก็บข้อมูลด้วยการสุ่มตัวอย่าง  ประกอบด้วย พระภิกษุ นักวิชาการ พนักงานบริษัท และประชาชนทั่วไป  จำนวน ๑๕  รูป/คน

   ผลการวิจัยพบว่า ในทางพระพุทธศาสนามีพระไตรปิฎกที่เป็นคัมภีร์สำคัญได้แสดงถึงวิบากกรรมที่พึงได้รับในปัจจุบันไว้ในนิพเพธิกสูตรว่าทิฏฐธรรมเวทนียกรรม  แปลว่า กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการให้ผลของกรรม ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๔ ประการ คือ (๑) เจตนาสัมปทา (๒) ปัจจยสัมปทา (๓) วัตถุสัมปทา  (๔) คุณาติเรกสัมปทา   ซึ่งให้ผลเป็น ๒ ลักษณะ  คือ ๑. ให้ผลในชาตินี้ภายใน ๗ วัน ๒. ให้ผลในชาตินี้หลังจาก ๗ วันไปแล้ว  และกรรมชนิดนี้สามารถให้ผลต่อเมื่อ (๑) ไม่มีอุปสรรคเบียดเบียน  (๒) ต้องได้รับการเกื้อหนุนเป็นพิเศษ(สมบัติ ๔) (๓) ต้องมีเจตนาอย่างแรงกล้า (๔) ผู้รับต้องเป็นบุคคลพิเศษมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น กรรมชนิดนี้เรียกว่า ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อีกประการหนึ่งก็เป็นกรรมที่ให้ผลในชาตินี้เหมือนกัน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น ๓ วาระ คือ (๑) บุคคลกระทำดีหรือชั่วไว้ในวัยเด็กกรรมก็ให้ผลในวัยเด็กวัยกลางคนและบั้นปลายชีวิต (๒) บุคคลกระทำดีหรือชั่วไว้ในวัยกลางคน กรรมให้ผลในวัยกลางคนและบั้นปลายชีวิต  (๓) บุคคลกระทำดีหรือชั่วไว้ในบั้นปลายชีวิต กรรมให้ผลในบั้นปลายชีวิต กรรมชนิดนี้เรียกว่า  อปริปักกทิฏฐ-ธรรมเวทนียกรรม แต่มีข้อแม้ว่าทิฏฐธรรมเวทนียกรรม  ซึ่งประกอบอยู่ในชวนะจิตดวงที่ ๑ นี้มีกำลังน้อยไม่มีกำลังมากเหมือนชวนะจิตดวงที่ ๒-๓-๔-๕-๖-๗  เพราะเป็นชวนะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอาเสวนปัจจัย (ปัจจัยสนับสนุน) จึงให้ผลแต่ในชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่ให้ผลจะกลายเป็นอโหสิกรรมไปในที่สุด

        ความเข้าใจหรือความเชื่อของพุทธศาสนิกชนไทย ต่อเรื่องทิฏฐธรรมเวทนียกรรม  สามารถแบ่งออกเป็น  ๒ ลักษณะ  คือ (๑) ความเชื่อที่ประกอบด้วยอารมณ์ (๒) ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล  และยังแบ่งบุคคลออกเป็น  ๒ กลุ่ม คือ (๑) กลุ่มความเชื่อในระดับชาวบ้านธรรมดา (๒) กลุ่มความเชื่อในระดับผู้มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า ๒ กลุ่มนี้มีความคิดเห็นที่เหมือนกันและมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังนี้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันคือ กลุ่มชาวบ้านมีความเข้าใจผิดในด้านความหมายและทัศนคติอยู่บ้างกลุ่มที่มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนามีความเชื่อตามแนวเหตุผลส่วนความคิดเห็นที่เหมือนกัน คือ บุคคลทั้งสองกลุ่มมีความเชื่อเรื่องทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือสิ่งใดก็ตามที่ตนกระทำลงไปย่อมได้รับผลในปัจจุบันนี้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว 

      ความเชื่อเรื่องทิฏฐธรรมเวทนียกรรมในพระพุทธศาสนาและสังคมไทย สังคมไทยมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา ความเชื่อดังกล่าวได้หล่อหลอมจิตใจของคนไทยให้มีความเชื่อเรื่องกรรมมาช้านาน ต่อมาสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลาย ๆ ด้าน จึงทำให้ความเชื่อเรื่องกรรมได้สั่นคลอนลงไป และผู้ที่จะสอนในเรื่องกรรมให้ถูกต้องในปัจจุบันนี้ก็มีน้อยคนส่วนมากมองว่ากรรมเป็นเรื่องไกลตัว หรือคิดว่าตนเองเกิดมามีกรรมถ้าสังคมไทยหันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องกรรมที่จะส่งผลให้ในปัจจุบันก็จะเป็นสิ่งที่ดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความเชื่อและประสบการณ์ในเรื่องทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเพื่อต้องการให้พุทธศาสนิกชนและสังคมไทยได้เข้าใจถึงการเกิดขึ้นและการส่งผลของกรรมชนิดนี้ 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕