หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พอศรี อินดี
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๑ ครั้ง
พุทธวิธีการแก้ปัญหาความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพราก
ชื่อผู้วิจัย : พอศรี อินดี ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2556
 
บทคัดย่อ

                  งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเอกสาร โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาเรื่องความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาพุทธวิธีการแก้ไขปัญหาความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพราก และ (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้พุทธวิธีการแก้ไขปัญหาความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากในสังคมไทยปัจจุบัน

                 ผลการวิจัยพบว่า การพลัดพรากจากคนผู้เป็นที่รัก ครอบครัว ญาติพี่น้อง ทรัพย์สมบัติและสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์แก่มนุษย์ผู้ยังยึดติดอยู่ในสัตว์ บุคคล ตัวตน ยากที่จะหลีกพ้น เพราะความทุกข์ดังกล่าวเป็นสภาวะที่ต้องเกิดขึ้นและมีอยู่ตามธรรมดาแห่งหลักอริยสัจ ๔ ข้อที่ว่าด้วยทุกขอริยสัจ เป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น และเป็นความทุกข์ในไตรลักษณ์ที่เป็นสามัญญลักษณะ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ สามัญเสมอกัน เกิดกับทุกสรรพสัตว์ เสมอภาคกับทุกชีวิต ประเภทของทุกข์จากการพลัดพราก แบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภทคือ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ (อัปปิยสัมปโยโค),  การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์(ปิยวิปปโยโค), ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ (อุปายาส) และการไม่ได้อารมณ์ที่ปรารถนาเป็นทุกข์

                    ความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องโลกธรรม ๘ ที่เป็นของมีอยู่คู่โลกและสังคมมนุษย์ในทุกยุคสมัย และยังเป็นปรากฏการณ์ที่ใช้เป็นบททดสอบสภาพจิตใจของคนว่าจะสามารถเห็นแจ้งในทุกข์แล้วหาทางรอดพ้นจากทุกข์นี้ได้หรือไม่ ผู้มีปัญญาจึงอาศัยกัลยาณมิตร เช่นพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ผู้จะสามารถแนะนำให้แสงสว่างและบอกวิธีดับทุกข์แก่ตน เพราะทุกข์มีความซับซ้อนจากหยาบไปหาละเอียด รวมความว่าสาเหตุแห่งทุกข์คือการยึดมั่นในขันธ์ ๕ เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม

              พุทธวิธีที่ใช้แก้ปัญหาความทุกข์จากการพลัดพรากได้แก่ การเจริญสติเนืองๆ ในชีวิตประจำวัน ด้วยหลักธรรมต่างๆ ดังนี้  คือ  อภิณหปัจจเวกขณ์ มรณานุสติ โลกธรรม ๘ ไตรลักษณ์ อานาปานสติ กายคตาสติ อริยสัจ ๔ โดยมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก มีศีลและสัมมาทิฏฐิ เป็นพื้นฐาน มีกัลยาณมิตรเป็นผู้แนะนำ และบอกวิธีดับทุกข์ ซึ่งทั้งนี้ต้องมีการศึกษา ฝึกฝน และ ปฏิบัติจนเกิดความคุ้นชิน อันเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง สามารถอยู่กับทุกข์อย่างรู้เท่าทันด้วยวิถีแห่งปัญญา พุทธวิธีการดับทุกข์จากการพลัดพรากพระพุทธองค์กระทำให้เป็นตัวอย่างมาแล้วในครั้งพุทธกาลเช่น ทรงโปรดนางปฏาจาราที่สูญเสียครอบครัว โปรดนางกีสาโคตรมีที่สูญเสียบุตร และบุคคลอื่นๆ ทรงใช้ธรรมโอสถเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชโลมใจให้บรเทาความโศกและขจัดความทุกข์ให้หมดสิ้นได้อย่างยั่งยืน         

                 กรณีผู้ประสบทุกข์จากการพลัดพรากในบริบทสังคมไทย  ผลการวิจัยภาคสนามพบว่า ผู้ประสบทุกข์จากการพลัดพรากส่วนใหญ่ใช้หลักการพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์และหลักมรณานุสติในการแก้ปัญหาความทุกข์ที่เกิดจากความพลัดพราก แม้จะมีความทุกข์สาหัสเพียงใด แต่เมื่อปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม คบกัลยาณมิตร ก็สามารถผ่านวิกฤตชีวิตไปได้และสร้างโอกาสในการฝึกฝนอบรมจิตให้มุ่งสู่การทำบุญพอกพูนกุศลเป็นที่ตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิทางพระพุทธศาสนาที่ต่างเสนอแนวคิดการแก้ปัญหาเรื่องทุกข์นี้ตามครรลองแห่งพุทธธรรม.

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕