หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหานพพล กนฺตสีโล (สายสินธ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
ภาวะผู้นำในการพัฒนาชุมชนของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม(การจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหานพพล กนฺตสีโล (สายสินธ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๙/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ
  พระมหาศักฏา สุมโน
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑. เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ในด้านการพัฒนาชุมชน ๒. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ในด้านการพัฒนาชุมชน จำแนกตามคุณลักษณะส่วนบุคคล ๓. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนในจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน ๔๐๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม แบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ ๒ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการ จังหวัดสมุทรสงคราม ตอนที่ ๓  เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของประชาชนต่อภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way analysis of variance) และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยวิธีหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)

 

                  ผลการวิจัย พบว่า 

๑. ความคิดเห็นของประชาชนต่อภาวะผู้นำในการพัฒนาชุมชนของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ทั้ง ๕ ด้าน พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๓๓ และเมื่อจำแนกรายด้านเรียงลำดับค่าเฉลี่ยมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด พบว่า ด้านการพัฒนาจิตใจ ประชาชนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๘๘ รองลงมาคือ     ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๔๑ และด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๒๗  ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๑๗ และด้านการการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ๒.๙๕ ตามลำดับ

๒. ภาวะผู้นำในการพัฒนาชุมชนของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม จำแนกตามสถานสภาพส่วนบุคคลโดยรวม ประชาชนที่มีอายุที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อภาวะผู้นำในการพัฒนาชุมชนของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงครามแตกต่างกัน ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ สำหรับประชาชนที่มีเพศ ระดับการศึกษา และอาชีพที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อภาวะผู้นำในการพัฒนาชุมชนของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ไม่แตกต่างกัน         ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้

๓. ปัญหาส่วนใหญ่ของพระสังฆาธิการในการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนของ    พระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม คือพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงครามส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการการพัฒนาชุมชนอยู่ในระดับปานกลาง และทำแบบเชิงรับอยู่กับที่อยู่กับวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ไม่ขยายขอบเขตการทำงานลงสู่เขตชุมชนทำให้ขาดการรับรู้ข้อมูล และปัญหาที่จริง ตลอดจนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนที่อยู่โดยบริเวณรอบวัดของตน ทำให้การพัฒนาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการพัฒนาชุมชนของพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงครามนั้น ยังขาดนโยบายและการวางแผนและมีทิศทางเป้าหมายที่ชัดเจน และขาดการทำงานเป็นระบบมีเครือข่ายเดียวกัน เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ทำแบบต่างคนต่างทำ และที่สำคัญคือขาดบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะมาสนองงานด้านการพัฒนาแต่ละด้านอีกมาก จึงทำให้เกิดปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้ง ๕ ด้าน อันได้แก่ ด้านการพัฒนาจิตใจ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม ด้านการสาธารณสงเคราะห์ และด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งยังคงมีปรากฏให้เห็นในชุมชนและสังคม ตลอดจนในส่วนของวัดอีกด้วยอย่างยากที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และแก้ไขอย่างเสียสละและจริงจังจากคณะสงฆ์

              ดังนั้น ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคือเจ้าคณะพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งเป็นผู้นำชุมชนอย่างแท้จริง จะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนโดยเฉพาะในเขตที่ตนอาศัยอยู่และปกครองอยู่อย่างมาก และควรปฏิบัติแบบเชิงรุก โดยมีการขยายขอบเขตการทำงานลงสู่เขตชุมชนรับรู้รับทราบข้อมูล และปัญหาในการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริงในทุกด้าน ตลอดจนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนที่อยู่โดยบริเวณรอบวัดของตนให้มาก มีภาวะผู้นำการในพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยพระสังฆาธิการจังหวัดสมุทรสงครามต้องวางนโยบายและแผนงาน กำหนดทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจนและถาวรยั่งยืน ทำงานเป็นระบบมีเครือข่ายเดียวกันทั้งจังหวัดสมุทรสงคราม และที่สำคัญต้องมีการสนับสนุนส่งเสริมบุคลากรทั้งของพระสงฆ์และของชาวบ้านให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ดำเนินงานไปสู่การพัฒนาในทุกด้านอย่างเต็มศักยภาพจนเกิดเกิดประสิทธิผลเจริญรุ่งเรืองแก่ทุกฝ่ายต่อไป

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕