หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอรรถธรรมโสภิต (ตึด) อคฺควํโส (เอี่ยมสะอาด)
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๙ ครั้ง
การศึกษาคติธรรมจากพิธีกรรมงานฌาปนกิจศพ ของชุมชนตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอรรถธรรมโสภิต (ตึด) อคฺควํโส (เอี่ยมสะอาด) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระอธิการเวียง กิตฺติวณฺโณ
  พระมหาวิศิต ธีรวํโส
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท  เพื่อศึกษาพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพในชุมชนตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์  และเพื่อศึกษาวิเคราะห์คติธรรมที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมงานฌาปนกิจศพของชุมชน ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ 

               ผลจากการศึกษาแนวคิดการตายและพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท  พบว่า  ความตาย  คือ  กระบวนการจบของชีวิต  หมายถึงการสิ้นใจ, การสิ้นสภาพของการมีชีวิต  แนวคิดเรื่องความตายในทางพระพุทธศาสนาเถรวาท  มองว่าความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต  แต่สาระแห่งการตายสามารถนำมาสร้างสิ่งดีงาม  นำมาเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ประมาทมัวเมาในวัยในชีวิต  เป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรม  และปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรให้บรรลุมรรคผลต่อไป  ส่วนประเพณีการจัดงานศพที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น  สมัยพุทธกาลจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายเฉพาะบุคคลสำคัญ  เช่น  พระพุทธเจ้า  พระพุทธบิดา  และพระพุทธสาวกบางรูป  ส่วนบุคคลทั่วไปไม่ปรากฏว่ามีพิธีกรรมด้านนี้  แต่มีการจัดการเกี่ยวกับศพอย่างเรียบง่ายโดยการเผา  การฝัง  การทิ้งศพให้เป็นอาหารของสัตว์  การนำศพลอยแม่น้ำ

               ผลจากการศึกษาพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพในชุมชนตำบลเทพรักษา  พบว่า  ชุมชนตำบลเทพรักษา  อำเภอสังขะ  จังหวัดสุรินทร์  และเพื่อศึกษาวิเคราะห์คติธรรมที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพของชุมชนตำบลเทพรักษา  อำเภอสังขะ  จังหวัดสุรินทร์  เป็นชุมชนชาวเขมร  ประกอบด้วยชุมชน  ๑๓  หมู่บ้าน  โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสงฆ์  ปราชญ์ชาวบ้าน  สัปเหร่อ  มรรคนายก  หรือผู้นำชุมชน  หมู่บ้านละ    คน  รวม  ๒๖  คน  เครื่องที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  แบบสัมภาษณ์

               ผลจากการศึกษาวิเคราะห์คติธรรมจากพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพในชุมชนตำบลเทพรักษา  พบว่า  ชุมชนตำบลเทพรักษามีข้อปฏิบัติเมื่อมีคนป่วยใกล้ตาย  มีประเพณีการปฏิบัติต่อศพ  มีประเพณีการปฏิบัติในการสวดศพ  มีประเพณีการบวชหน้าศพและการจูงศพ  มีประเพณีการปฏิบัติในการเผาศพ  และมีประเพณีการเก็บอัฐิและทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย  เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง  ปัจจุบันประเพณีการจัดงานศพของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง  อย่างเช่นแต่เดิมนั้นมักนิยมฝังศพไว้ก่อน  แต่ปัจจุบันเมื่อตายแล้วมักนิยมทำบุญฌาปนกิจคือเผาให้แล้วเสร็จ  ซึ่งแต่ละชุมชนก็จัดงานศพตามฐานะของเจ้าภาพ  แต่ในขั้นตอนพิธีการต่าง ๆ ชุมชนก็ยังยึดถือเอาประเพณีและข้อปฏิบัติที่ทำสืบ ๆ ต่อกันมา  ตามความเชื่อดั้งเดิมบวกกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย

               ผลจากการศึกษาวิเคราะห์คติธรรมจากประเพณีงานศพในชุมชนตำบลเทพรักษา  พบว่า  พิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพสะท้อนคุณค่าของชีวิต  คติธรรมต่าง ๆ ที่พบ  ในการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพ  ดังนี้  ข้อปฏิบัติเมื่อมีคนป่วยใกล้ตายได้คติธรรม  คือ  การมีสติไม่หลงตาย  ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท  เห็นสัจธรรมในขันธ์ ๕ ประเพณีการปฏิบัติต่อศพได้คติธรรม  คือ  ความกตัญญูกตเวที  ความเคารพนับถือ  หลักไตรลักษณ์คืออนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ประเพณีการสวดศพได้คติธรรม คือ  การอุทิศส่วนกุศล  การมีน้ำใจต่อกัน  ประเพณีการบวชหน้าศพและจูงศพได้คติธรรม คือ ความกตัญญูรู้คุณ  การสร้างอริยทรัพย์คือคุณความดีต่าง ๆ ประเพณีการเผาศพได้คติธรรม  คือ    สัจธรรมของชีวิตได้แก่อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ความไม่ประมาทในชีวิต  ความเคารพนับถือต่อกัน  และประเพณีการเก็บอัฐิการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย  ให้คติธรรมด้านความกตัญญูกตเวที  ความสำนึกในบุญคุณต่อกัน  และการเกิดใหม่ในโลกหน้า  ด้วยอาศัยอำนาจของบุญกุศลที่ทำอุทิศให้แก่ผู้ตายนั้นจะทำให้ผู้ตายได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีในโลกหน้าต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕