หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิรันตร์สาธุกิจ (ยม เนียมเล็ก)
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๘ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์เรื่องอาโปธาตุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิรันตร์สาธุกิจ (ยม เนียมเล็ก) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู
  วรกฤต เถื่อนช้าง
  ศิริโรจน์ นามเสนา
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องอาโปธาตุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาหลักปฏิบัติอาโปธาตุตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  และ ๓) เพื่อวิเคราะห์อาโปธาตุกับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตและการประยุกต์ใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน   การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร  โดยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ

ผลการวิจัยพบว่า

              ๑.อาโปธาตุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท สามารถสรุปจากหลักคำสอนในพระสูตรต่างๆ  เช่น อัคคัญญสูตร กล่าวถึง การเกิดสิ่งมีชีวิตแล้วมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ และธาตุอื่นๆ คงเกิดขึ้นพร้อมกันเพื่อก่อให้เกิดความดำรงอยู่ได้ของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลาย น้ำจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งหรือสสารอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นมากต่อร่างกายและชีวิตทั้งภายในและภายนอก แต่น้ำก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตนที่แท้จริง นั่นคือ ยอมมีวันแตกดับไปได้ตามหลักธรรมชาติ เช่นน้ำในร่างกายของคน เมื่อคนผู้นั้นเสียชีวิต ธาตุทั้งหลายรวมทั้งน้ำ ก็แตกดับไปหมดสิ้น ส่วนภัยพิบัติและผลกระทบทางอาโปธาตุ พระพุทธศาสนาเถรวาทกล่าวว่าสาเหตุที่จักรวาลและโลกถูกทำลายมีอยู่ ๓ ประการ คือ ถูกทำลายด้วยไฟ ด้วยน้ำและด้วยลม อันเป็นภัยพิบัติตามกฎเกณฑ์ของสรรพสิ่งภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ ๑.ไม่เที่ยงคือไม่คงทน  ๒.เป็นทุกข์ คือการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ทรุดโทรม และ๓.ไม่มีสารัตถะที่แท้จริง

                  ๒.หลักปฏิบัติอาโปธาตุตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทประกอบด้วยหลักปฏิบัติอาโปธาตุตามแนวพระวินัย (สิกขาบท) อันเป็นพระพุทธบัญญัติ ข้อห้ามสำหรับบรรพชิต เช่น ห้ามถ่ายปัสสาวะ อุจจาระลงในน้ำ บ้วนเขฬะ(น้ำลาย)ลงในน้ำ ยกเว้นอาพาธ เป็นต้น รูปใดฝืนทำ รูปนั้นต้องอาบัติ  ส่วนหลักปฏิบัติอาโปธาตุตามแนวสมถกรรมฐาน อันเป็นหลักปฏิบัติอสุภกรรมฐานก็เพื่อฝึกฝน อบรม พัฒนาจิตใจให้สงบระงับ เกิดสมาธิและเกิดสติปัญญาจนสามารถข่มและทำลายกิเลสได้ในที่สุด ในส่วนวิปัสสนากรรมฐาน ก็ปรากฏในส่วนของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และผู้ปฏิบัติจำต้องปฏิบัติด้วยความตั้งใจและพากเพียร ซึ่งมีหลักธรรมอื่นๆ คอยสนับสนุน กล่าวคือ จำต้องปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ ด้วย เพื่อช่วยให้การปฏิบัติอาโปธาตุได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น สัมมัปธาน ๔ ,พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗  ประการ เป็นต้น

                  ๓.การวิเคราะห์อาโปธาตุกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตนั้น ชีวิตของมนุษย์ทุกคนประกอบด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ที่จะเข้ามาควบคุมให้กระบวนการแห่งธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ดำเนินไป ในการพิจารณาเรื่องชีวิต เมื่อยกธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ขึ้นเป็นที่ตั้งแล้ว ก็จะทำให้มนุษย์เข้าใจในกระบวนการแห่งชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีการประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือสอนธรรม เช่น คำสอนเรื่องน้ำเปรียบกับความชั่วที่จำต้องละเว้น ทำลายให้หมดสิ้นเช่นโอฆะ ห้วงน้ำแห่งกิเลส  ส่วนอาโปธาตุกับการบรรลุธรรมนั้น หมายเอาการพิจารณาร่างกายและสรรพสิ่งว่าเป็นส่วนประกอบของธาตุ ๔ จนเกิดปัญญาสามารถถ่ายถอนกิเลสตัณหาได้หมดสิ้น

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕