หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ลักษณาวดี แก้วมณี
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
เกณฑ์ตัดสินความเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานในสังคมไทยตามหลักสติปัฏฐาน ๔
ชื่อผู้วิจัย : ลักษณาวดี แก้วมณี ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ประพันธ์ ศุภษร
  บรรจบ บรรณรุจิ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

                                                         บทคัดย่อ


                  วิทยานิพนธ์เรื่อง “เกณฑ์ตัดสินความเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานในสังคมไทยตามหลัก  สติปัฏฐาน ๔” โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  (๑)  เพื่อศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานในสังคมไทย    (๒) เพื่อศึกษาความเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ (๓) เพื่อตัดสินความเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานของกัมมัฏฐานในสังคมไทยตามหลักสติปัฏฐาน ๔
ผลการศึกษาพบว่า
เกณฑ์ตัดสินความเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ที่การเห็นนามรูปว่าไม่เที่ยง คือ มีเกิดแล้วดับ เป็นทุกข์คือถูกความเกิดละความดับบีบคั้นให้อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  และเป็นอนัตตาคือนามรูป  ไม่มีตัวตนไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้   ดังนั้น จึงสามารถใช้เกณฑ์นี้มาเป็นเกณฑ์ตัดสินความเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานในสังคมไทยตามหลักสติปัฏฐาน ๔ สรุปได้ดังต่อไปนี้
๑)  วิธีพุทโธ
การปฏิบัติตามสายพุทโธเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานในขั้นตอนที่ ๗ เพราะเป็นการวิธีพิจารณาโครงกระดูก  มีการใช้สมาธิขั้นสูงเป็นฐานในการเจริญวิปัสสนาคือการเพ่งพิจารณากำหนดรู้  เมื่อพิจารณาตามวิธีการของสติปัฏฐาน  จัดเข้าได้กับ กายานุปัสสี คือ ตามดูกาย ดูการเกิดดับของกาย             ในส่วนของกระดูก ซึ่งเป็นอาการหนึ่งในอาการ ๓๒  จะรู้และสามารถเชื่อมโยงไปถึงอาการส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างกายได้หมดจนกระทั่งปล่อยวางได้  
๒)  วิธีอานาปานสติ  
การเจริญวิปัสสนาวิธีอานาปานสติ  ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นที่ ๑๒ และจัดเป็นวิปัสสนาญาณอย่างแท้จริงในขั้นที่ ๑๓  คือ เห็นความไม่เที่ยงคือเกิดดับของปีติสุขและฌาน เมื่อพิจารณาตามวิธีของ                     สติปัฏฐาน  จัดเข้าได้กับเวทนานุปัสสนา พร้อมตามดูความเกิดดับในเวทนาและในฌาน


๓)  วิธีพอง-ยุบ
การปฏิบัติตามสายพอง-ยุบ จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานเริ่มต้นที่การกำหนดพอง-ยุบ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ปฏิบัติสามารถจำแนกได้ว่า “อาการพอง ยุบ นั่ง ถูก” นั้น เป็นรูป  ส่วนการกำหนดรู้อาการ พอง ยุบ นั่ง ถูก เป็นนาม  จากนั้นใช้วิธีการกำหนดพองยุบซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดเกิด-ดับ  เชื่อมโยงไปถึงการกำหนดหรือตามดูเวทนา จิต และธรรมและการเกิดดับของสภาวะทั้ง ๓ นี้ ซึ่งอาศัยขณิกสมาธิเป็นฐาน  และขณิกสมาธิสามารถพัฒนาไปถึงขั้นอุปจารสมาธิ  
๔)  วิธีสัมมาอะระหัง
การปฏิบัติสายสัมมาอะระหังหรือธรรมกาย ไม่เป็นวิปัสสนา แม้ว่าจะมีการเจริญวิปัสสนาบ้าง แต่ไม่ชัดนัก  คำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นวิปัสสนาที่มีจุดยึดสำคัญ คือ ธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่พ้นไปจากสามัญญลักษณะ และธรรมกายนี้เองมีวิปัสสนาญาณเป็นตาเห็นสามัญญลักษณะ  ฉะนั้น หากจะเทียบกับสติปัฏฐานแล้วไม่ถือว่าเป็นวิปัสสนา
๕)  วิธีเคลื่อนไหว
วิธีปฏิบัติเคลื่อนไหวหรือสายเคลื่อนไหวจะคล้ายกับวิธีปฏิบัติพอง-ยุบ คือ ใช้สติกำกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถที่เคลื่อนไหวซ้ำแล้วซ้ำเล่า  จนเกิดมีกำลังมากขึ้นสามารถเข้าไปดูความเกิดดับของความคิดและหยุดความคิด  ถือว่าเป็นวิปัสสนาที่มีสมาธิเป็นฐานเมื่อได้ผ่านอารมณ์สมมุติแล้วพัฒนาเข้าสู่การรู้อารมณ์ปรมัตถ์ โดยใช้สติตามดูความคิด   

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕