หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสมุห์อินทร์วงค์ อิสฺสรภาณี (วงค์ไชยคำ)
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๙ ครั้ง
พระเมตไตยพุทธเจ้า: แนวคิด ความเชื่อและอิทธิพลต่อสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสมุห์อินทร์วงค์ อิสฺสรภาณี (วงค์ไชยคำ) ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดวงจันทร์ คุตฺตสีโล
  ปรุตม์ บุญศรีตัน
  ไพฑูรย์ รื่นสัตย์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ


                                                       บทคัดย่อ

            วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องพระเมตไตยพุทธเจ้าในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อและอิทธิพลเรื่องพระเมตไตยพุทธเจ้าในสังคมไทย และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติสำหรับไปสู่โลกพระเมตไตยพุทธเจ้าที่เหมาะสม 
            ผลการศึกษาพบว่า พระโคดมพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า พระเมตไตยพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลกเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ที่มาของพระนาม “เมตไตย” นัยหนึ่งว่าเป็นเพราะอรรถตามพระมารดาว่า มิตตา อีกนัยหนึ่งว่า เป็นเพราะอรรถว่า “เมตตา” แปลว่า ความรัก หรือความเป็นมิตร ปัจจุบันเสวยพระชาติเป็น นาถเทพบุตร ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต รอการเสด็จลงมาตรัสรู้ในอนาคตหลังจากผ่านยุคความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ผู้ที่ปรารถนาจะทันศาสนาของพระเมตไตยพุทธเจ้าต้องเจริญกุศลธรรมบถทั้ง ๑๐ ประการเป็นอย่างมาก ฟังพระธรรมเทศนาพระเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ให้จบภายในหนึ่งวัน เว้นจากการทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ ประการโดยเด็ดขาด
       ความเชื่อเกี่ยวกับพระเมตไตยพุทธเจ้าปรากฏขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) เริ่มต้นจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์อนาคตวงศ์ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาออกเป็นแนวคิดต่างๆ อย่างหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบททางวัฒนธรรม ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ความเชื่อเหล่านี้เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตราบจนถึงปัจจุบัน แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ท้องถิ่น วัฒนธรรม  
       อิทธิพลของความเชื่อเรื่องพระเมตไตยพุทธเจ้าได้ส่งผลต่อสังคมไทยในหลากหลายมิติ เช่น ทางด้านศิลปกรรม ดังจะเห็นได้จากงานประติมากรรมรูปพระเมตไตยพุทธเจ้าที่มีพัฒนาการมาจาก รูปของฤาษี รูปเทวดา และรูปของพระภิกษุในปัจจุบัน อิทธิพลต่อวรรณกรรม เช่น การแต่งคาถาบูชาพระเมตไตยพุทธเจ้า การนำความเชื่อเรื่องพระเจ้า ๕ พระองค์ไปแต่งผูกเป็นยันต์ การแต่งบทสวดสรรเสริญพระเมตไตยพุทธเจ้า เป็นต้น
          แนวคิดเรื่องพระเมตไตยพุทธเจ้าทั้งในมิติทีเป็นเรื่องของอนาคตและมิติที่เป็นเรื่องของปัจจุบัน สามารถนำแนวคิดนั้นมาประยุกต์เพื่อพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบันนี้ได้ โดยการนำความรู้เรื่องพระเมตไตยพุทธเจ้า ทั้งในด้านแนวคิดทั่วไป ความเชื่อและอิทธิพล มาเป็นเป้าหมายหลักและกระบวนการในการพัฒนา จากนั้นจึงประยุกต์หลักธรรมที่ปรากฏในองค์ความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕