หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายจรูญ วรรณกสิณานนท์
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๘ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ “การปฎิเสธอัตตา”ในพระพุทธศาสนาเถรวาท(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีรัตนดิลก
  ผศ. ดร. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ เมษายน ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มุ่งเน้นศึกษาวิเคราะห์การปฏิเสธอัตตาในทัศนะของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท พร้อมกับการสัมภาษณ์ทัศนะของนักวิชาการในปัจจุบันจำนวน ๕ ท่านประกอบด้วยนักวิชาการพุทธ ๒ ท่าน นักวิชาการคริสต์ อิสลาม และ พราหมณ์ ศาสนาละ ๑ ท่านผลการวิจัยภาคเอกสารพบว่า ศาสนาพราหมณ์–ฮินดู ทั้งคัมภีร์ภควัทคีตาและอุปนิษัท ทั้งปรัชญาตะวันตกของเซนต์โทมัส อะไควนัส ทั้งตรรกะ ๔ สำนักในปรัชญาอินเดียล้วนยืนยันตรงกันว่า มนุษย์มีอัตตาหรืออาตมันซ่อนอยู่ภายในมีภาวะเป็นอมตะ แม้พระเป็นเจ้าผู้เนรมิตสร้างสรรค์มนุษย์ขึ้นมาก็มีภาวะเป็นอมตะเช่นกันส่วนมติทางพระพุทธศาสนาปฏิเสธอัตตาอมตะ ด้วยวิธีการแยกร่างกายและจิตใจของมนุษย์และสัตว์ออกจากกันและชี้ว่าแต่ละส่วนไม่มีส่วนใดคงที่เป็นอมตะเลย แต่ได้แสดงความจริงว่า ความจริงสูงสุดมี ๔ อย่าง เรียกว่า ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน โดยแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ ฝ่ายเกิดได้แก่ จิต เจตสิก รูป เมื่อแยกละเอียดออกไปตรงกับขันธ์ห้า และปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ส่วนฝ่ายดับ ได้แก่ นิพพาน คือทั้งจิต เจตสิก และ รูป หรือขันธ์ห้าหรือปฏิจจสมุปบาท เมื่อหมดปัจจัยที่จะทำให้เกิดอีกต่อไปจะดับลง การดับนี้เรียกว่า นิพพาน แปลว่า ดับอย่างสนิท
ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ นี้มีการแสดงความเป็นไปหรือการเกิดและการดับอยู่ในลักษณะ ๓ ประการ คือ (๑) มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(อนิจจัง) (๒) ทนอยู่ในสภาพเดิมได้อย่างยากลำบาก(ทุกขัง)(๓)ไม่มีภาวะอมตะที่จะทำให้คงอยู่ในสภาวะเดียวได้ชั่วนิรันดร (อนัตตา) อนึ่ง ความจริง ๔ อย่างนี้ เรียกชื่ออีกหนึ่งว่า ปรมัตถบัญญัติ คือ การบัญญัติศัพท์เรียกสิ่งที่เป็นความจริงการปฏิเสธอัตตาในพระพุทธศาสนา ใช้คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา หรือ ไม่มีอัตตา หรือ ไม่เป็นอัตตา เป็นคำปฏิเสธลงไปที่ความเชื่อเรื่องอัตตาโดยตรงที่คำสอนอื่นเชื่อว่า จิตบ้าง วิญญาณบ้างมีภาวะเป็นอัตตา คือตัวตนอมตะ แต่พระพุทธศาสนาปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า จิตบ้าง วิญญาณบ้าง เหล่านั้นว่า อนัตตา (ไม่ใช่อัตตา) เพราะจิตบ้าง วิญญาณบ้างนั้นมีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปและจากนั้นดวงใหม่ก็เกิดขึ้นมาแทนติดต่อกันไปเช่นนี้ตลอดเวลา ไม่อาจคงที่เป็นอัตตาอมตะได้คำว่า อนัตตาจึงเป็นคำปฏิเสธอัตตาโดยตรง ไม่ใช่คำสอน ๒ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับอัตตา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความหมายของคำว่าอัตตาตรงกับขาว ความหมายของคำว่า อนัตตาก็ตรงกับไม่ขาว ถ้าความหมายของอัตตาตรงกับดำ ความหมายของอนัตตาก็ตรงกับไม่ดำ ดังนั้น คำว่า อนัตตา จึงเป็นคำปฏิเสธอัตตาโดยตรง ไม่ใช่หมายถึงสิ่งอื่นสรุปว่า ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ล้วนเป็นอนัตตา คือ จิตไม่ใช่อัตตา เจตสิกไม่ใช่อัตตา รูปไม่ใช่อัตตา และนิพพานไม่ใช่อัตตา แต่เป็นปฏิจจสมุปบาทเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์และจัดเป็นสัมมาทิฏฐิ ส่วนทัศนะที่เข้าใจว่า จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เป็นอัตตา ไม่ขึ้นต่อสิ่งใดจัดเป็นคำสอนวิปลาสและเป็นมิจฉาทิฏฐิ

Download : 254841.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕