หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุญกอง คุณาธโร (มาหา)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๓ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์ความกตัญญู (กตญฺญุตา) ในพระพุทธศาสนาเถรวาท(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุญกอง คุณาธโร (มาหา) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีรัตนดิลก
  ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  ดร.สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องความกตัญญูในพระพุทธศาสนาเถรวาท ความสัมพันธ์ระหว่างความกตัญญูกับหลักธรรมข้ออื่น ๆ บทบาทและอิทธิพลของความกตัญญูที่มีต่อสังคมและประเพณีไทย
จากการศึกษาพบว่า ความกตัญญู หมายถึง ความตระหนักรู้ในคุณของบุคคล สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อตนเองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กตเวที คือ การตอบแทนคุณความกตัญญูเป็นหลักธรรมสำคัญประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความกตัญญู เป็นมงคลอันสูงสุดมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันแบบอิงอาศัยกับสิ่งที่อยู่รอบตัว บุคคลที่มีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกสำนึกในบุญคุณและคิดตอบแทนคุณบุคคล สัตว์ สถาบัน ธรรมชาติแวดล้อม และช่วยเกื้อกูลสังคมส่วนรวมด้วยความเมตตากรุณา การกระทำเช่นนี้ ย่อมนำความสุข ความเจริญ และสิริมงคลมาสู่ชีวิตตนเอง คนผู้ที่ขาดความกตัญญู ย่อมไม่น่าคบหา และเป็นสาเหตุนำมาซึ่งภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งต่อตนเองและต่อสังคม
พระพุทธศาสนาส่งเสริมความกตัญญูกตเวที สอนให้มนุษย์รู้จักการกระทำหน้าที่ของตนเอง เริ่มจากความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อหน้าที่ในครอบครัว เช่น หน้าที่ของบิดามารดา หน้าที่ของบุตรธิดา เมื่อทุกคนปฏิบัติตามหลักความกตัญญูแล้ว จะก่อให้เกิดความเจริญด้านจิตใจ ซึ่งจะส่งผลให้สังคมนั้น ๆ มีความสงบสุขและร่มเย็นตลอดไปหลักธรรมที่ส่งเสริมความกตัญญู เช่น พรหมวิหาร และสังคหวัตถุ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความรัก ความเมตตาต่อกันในสังคม ส่วนหลักธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความกตัญญู เช่น อกุศลมูล และมัจฉริยะ ซึ่งเป็นเหตุทำให้ความรัก ความเคารพ ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ลดน้อยถอยลง เกิดช่องว่างระหว่างมนุษย์ ส่งผลให้มองไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องตอบแทนพระคุณ เป็นที่มาของความลบหลู่ การตีตนเสมอ และความอกตัญญูต่อผู้มีคุณ ต่อสถาบัน และต่อธรรมชาติแวดล้อมความกตัญญูแทรกอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสังคม ดังนั้น หากบุคคลทุกฝ่ายได้ศึกษาและรู้คุณค่าของความกตัญญู รู้ประโยชน์ที่จะได้รับ จนสามารถนำหลักการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในสังคม ย่อมจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสังคม อันจะส่งผลให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าและผาสุกมั่นคงสืบต่อไป

Download : 254849.pdf

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕