หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาศุภชัย สุภทฺโท (เบ้าทอง)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
แนวทางการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเชิงพุทธบูรณาการ
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาศุภชัย สุภทฺโท (เบ้าทอง) ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

                                                             บทคัดย่อ                                                     

        วิทยานิพนธ์เรื่องแนวทางการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเชิงพุทธบูรณาการมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะ (๒) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเชิงพุทธ (๓) เพื่อบูรณาการแนวทางการพัฒนาจิตสำนึกด้วยแนวทางการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเชิงพุทธ

       จากการวิจัยพบว่า   การพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง โดยปกติต่างมุ่งหวังในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อส่วนตัว เพิกเฉยต่อสังคมส่วนรวมไม่ช่วยกันรักษาสมบัติ และสถานที่ที่เป็นทรัพย์สินสาธารณะ เขาเหล่านั้นไม่สนใจแก้ปัญหาทั่วไปโดยส่วนรวม  ดังนั้นจึงควรปลูกฝัง  ส่งเสริมและพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะให้มีมากขึ้นในสังคมไทย   เพราะจิตสำนึกสาธารณะเป็นเรื่องของจิตใจ และเป็นความรู้สึกภายในจิตที่เกิดขึ้นได้  การปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะนั้น  ควรปลูกฝังจิตสำนึกให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก สู่วัยรุ่น และจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้นั้น  บุคคลต้องการปลูกจิตสาธารณะให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจ อันจะมีผลให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข

                 (๑) จากสภาพปัญหาการขาด จิตสำนึกสาธารณะพบว่าคนในสังคมไทยปัจจุบัน เผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง  การที่ผู้คนขาดจิตสำนึก  ขาดความรับผิดชอบ เช่นการทิ้งขยะในที่สาธารณะ  การขีดเขียนในที่สาธารณะ การไม่เคารพกฎจราจร  การข้ามถนนไม่ใช้สะพานลอย  การแย่งกันขึ้นรถเมล์หรือรถไฟ  เป็นต้น และปัญหาส่วนหนึ่ง คือ การไม่เข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎ  กติกาต่างๆ ปัญหาเหล่านี้เป็นการขาดจิตสำนึกของคนในสังคมไทยปัจจุบัน

                                                                   

 

                 (๒) แนวทางการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเชิงพุทธที่มีหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาในการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะของสังคมไทย อันเป็นหัวใจสำคัญแห่งคุณธรรมที่มุ่งไปสู่เป้าหมายของความถูกต้องดีงาม  หลักธรรมที่สำคัญได้แก่ (๑) สังคหวัตถุ ๔  คือ ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของบุคคล  และเป็นธรรมเครื่องสงเคราะห์ผู้อื่น  (๒)  พรหมวิหาร  ๔ คือ  ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่  (๓) ฆราวาสธรรม ๔ คือ ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน อิทธิบาท ๔ คือ คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ (๔) สาราณียธรรม ๖ คือ ธรรมการอยู่ร่วมกันให้เกิดความสามัคคี เป็นต้น

                   (๓) เพื่อบูรณาการแนวทางการพัฒนาจิตสำนึกด้วยแนวทางการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเชิงพุทธ คือ (๑) ด้านการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์   (๒) ด้านสิ่งแวดล้อม  (๓) ด้านการดูแลรักษาสาธารณสมบัติ (๔) ด้านการประกอบธุรกิจ  เป็นการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะในรูปแบบที่เหมาะสมในสังคมไทยปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาจิตสำนึกของบุคคลในสังคมไทยให้มีจิตสำนึกสาธารณะในด้านการพัฒนาที่เหมาะสมในปัจจุบัน

          ในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้นจิตสำนึกสาธารณะคือจิตที่ประกอบกุศล จิตที่ดีงาม จิตที่ประเสริฐ จิตมีความเมตตา  กรุณา  มีความเสียสละ  ในการช่วยเหลือผู้อื่น  การช่วยเหลือสังคม และสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ดังนั้น หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน อันจะนำมาซึ่งความผาสุกสู่สังคมและประเทศชาติตลอดไป

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕