หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พีรพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนาในยุค โลกาภิวัตน์ที่พึงประสงค์ : พัฒนาการและแนวโน้ม
ชื่อผู้วิจัย : พีรพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
  วัชระ งามจิตรเจริญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ ๑) เพื่อศึกษาสภาพรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาพัฒนาการและแนวโน้มของรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ที่พึงประสงค์ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีเก็บ รบรวมข้อมูลจากพระคัมภีร์ไตรปิฎกและอรรถกกา หนังสือเอกสารวิชาการ และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการด้านสื่อมวลชน สื่อมวลชนอาชีพ สื่อมวลชนในพระพุทธศาสนา และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน ๒๖ ท่าน รวมถึงการสนทนากลุ่มย่อยกับผู้ทรงคุณวุฒิ ๕ ท่าน กำหนดศึกษาเฉพาะสื่อมวลชน ๔ แขนง  ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อให้ได้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนาในยุค      โลกาภิวัตน์ที่พึงประสงค์ ตลอดถึงพัฒนาการและแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนา

             ผลการวิจัยพบว่า สภาพรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนามี ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบที่เกื้อกูลซึ่งกันและรูปแบบที่ขัดแย้งกัน รูปแบบความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ได้แก่ การที่สื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาเข้าไปใช้บริการของสื่อมวลชนอาชีพผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมถึงการที่สื่อมวลชนอาชีพได้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาไปนำเสนอในสื่อของตน ส่วนรูปแบบความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกัน ได้แก่ อุดมการณ์ในการทำหน้าที่ต่างกัน เป้าหมายหลักในการทำหน้าที่ต่างกัน วัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกัน เป็นต้น  

    ในด้านพัฒนาการของรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์พบว่า พัฒนาการของรูปแบบความสัมพันธ์ของสองฝ่ายเริ่มตั้งแต่สื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาเข้าไปใช้บริการหรือใช้เครื่องมือสื่อสารของสื่อมวลชนอาชีพเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนในเวลาต่อมาสื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาด้วยตัวเอง และเป็นเจ้าของกิจการสื่อเสียเองทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต  ส่วนแนวโน้มของรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนอาชีพกับสื่อมวลชนในพระพุทธศาสนานั้น ความสัมพันธ์ของสื่อทั้งสองฝ่ายจะเป็นไปทั้งในเชิงการลดความสัมพันธ์ลง การคงความสัมพันธ์ต่อกันเอาไว้ และการเพิ่มความสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น กล่าวคือสื่อมวลชนในพระพุทธศาสนามีแนวโน้มที่จะใช้บริการสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อวิทยุน้อยลง แต่ก็ยังจะคงความสัมพันธ์กับสื่อสองแขนงนี้ ที่ยังพอมีอิทธิพลอยู่เอาไว้ ขณะที่แนวโน้มการใช้บริการสื่อมวลชนในเชิงการเพิ่มความสัมพันธ์จะไปอยู่ที่สื่อโทรทัศน์และสื่ออินเทอร์เน็ต  สื่อมวลชนทั้งสองฝ่ายจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์จึงจะอยู่รอดได้ โดยสื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาจะต้องปรับตัวมากกว่าสื่อมวลชนอาชีพ เช่น การยอมรับวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงความเห็นที่หลากหลาย การบริหารจัดการองค์กรสื่อแบบธุรกิจ เป็นต้น  

    สำหรับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ที่พึงประสงค์นั้น สื่อมวลชนทั้งสองฝ่ายมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่พึงประสงค์ (ต่อกัน) คล้ายกัน ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งและกัน สื่อมวลชนอาชีพและสื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาต้องพัฒนาบุคคลหรือองค์กรให้เข้ากับยุคสารสนเทศ (IT)  ควรมีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างเพื่อรับนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ควรมีการปรับตัวเข้าหากันเพื่อทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ ควรศึกษาพระพุทธศาสนาจนเกิดความเข้าใจ ควรเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย ควรสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนด้านพระพุทธศาสนาเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมวลชนในพระพุทธศาสนาควรประพฤติตนอยู่ในพระธรรมวินัยเพื่อคงและเพิ่มศรัทธาจากมวลชน เช่นเดียวกับสื่อมวลชนอาชีพที่ควรคำนึงถึงผลกระทบจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านพระพุทธศาสนาและควรปฏิบัติตนอยู่ในจริยธรรมของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕