หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร มูลพันธ์)
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๘ ครั้ง
รูปแบบการใช้วิปัสสนากรรมฐานเพื่อการพัฒนาพระสงฆ์ใน จังหวัดศรีสะเกษ
ชื่อผู้วิจัย : พระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร มูลพันธ์) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

             วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาการใช้วิปัสสนากรรมฐานเพื่อการพัฒนาพระสงฆ์ที่ปรากฏในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาการสอนและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระสงฆ์ในจังหวัดศรีสะเกษ (๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการใช้วิปัสสนากรรมฐานเพื่อการพัฒนาพระสงฆ์ในจังหวัดศรีสะเกษ วิธีการศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก เอกสาร ตำรา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือที่รวบรวมเกี่ยวกับหลักของการปฏิบัติ และเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกพระสังฆาธิการในจังหวัดศรีสะเกษ ๑๘ สำนักปฏิบัติธรรม นำมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้เนื้อหาสอดคล้องตามความเป็นจริงที่เกิดจากการสัมภาษณ์ เกิดจากการสังเกตการณ์ และเกิดจากการสนทนาธรรมระหว่างการปฏิบัติธรรม

             ผลจากการวิจัยพบว่า 

             วิปัสสนากรรมฐาน คือ ข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้ง ในสภาวะของความเป็นจริงของสรรพสิ่ง โดยการกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ วิปัสสนากรรมฐานนั้น มีวิธีปฏิบัติที่สำคัญ คือสติปัฏฐาน ๔ในอดีตมีพระสงฆ์มากมายปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางการสอนของพระพุทธเจ้าแล้วสามารถพัฒนาตัวเองกลายเป็นบุคคลสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น พระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ สองท่านนี้ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญแห่งยุคในสมัยครั้งพุทธกาล และเป็นอัคราสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขาวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระมหากัสสปเถระ ก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่โดดเด่นด้วยการปฏิบัติถือธุดงควัตร และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติกรรมฐานที่เห็นได้ชัดเจนอีกรูปหนึ่ง และพระราหุลเถระ ก็ได้นำหลักการดังกล่าวมาสมาทานถือธุดงควัตรจนบรรลุธรรมในที่สุด เป็นต้น อุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ นิวรณ์ หรือเครื่องกีดกั้นขัดขวางความดีงามของจิตที่ผู้ปฏิบัติไม่อาจหนีพ้นอุปสรรคเหล่านี้ไปได้

             การสอนและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระสงฆ์ในจังหวัดศรีสะเกษนั้น        คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษอยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ร่วมกับอุบลราชธานี นครพนม ยโสธร มุกดาหาร และอำนาจเจริญ มีพระสังฆาธิการปรากฏตามสถิติของคณะสงฆ์ศรีสะเกษ คือ ระดับเจ้าคณะอำเภอ ๒๒ อำเภอ ระดับเจ้าคณะตำบล ๒๑๒ ตำบล และระดับเจ้าอาวาส ๑,๑๓๙ วัด           มีพระภิกษุสงฆ์ ๙,๑๘๑ รูป สามเณร ๑,๓๑๕ รูป พระสังฆาธิการที่กล่าวมานี้ผ่านการอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐานของคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ซึ่งได้กำหนดให้มีโครงการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ถึงปัจจุบัน รวม ๑๒ รุ่นๆ ละ ๑๕๐-๒๐๐ รูป เมื่อผ่านการอบรมแล้วได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมเป็นประจำตามมติมหาเถรสมาคม และตามประกาศคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษขึ้น โดยใช้รูปแบบการปฏิบัติตามหลักสติปัฎฐาน ๔

             ในส่วนรูปแบบการใช้วิปัสสนากรรมฐานเพื่อการพัฒนาพระสงฆ์ในจังหวัดศรีสะเกษ นั้น คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ตามนโยบายคณะสงฆ์ภาค ๑๐ เป็นรูปแบบในการพัฒนาพระสงฆ์ในหลายด้าน โดยได้รับประโยชน์ กล่าวคือ (๑) ด้านการพัฒนากาย พระสงฆ์มีการสำรวมอินทรีย์สังวร คือ การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้เป็นปกติอยู่เสมอ (๒) ด้านการพัฒนาศีล พระสงฆ์มีความสัมพันธ์อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างสันติวิธี    รักความสงบ สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่คิดร้าย หรือกล่าวร้ายใครให้มัวหมอง (๓) ด้านการพัฒนาจิต พระสงฆ์มีการพัฒนาจิตที่มั่นคง เข้มแข็ง อดทน ในสิ่งที่มากระทบหรือรบกวนใจ และ (๔) ด้านการพัฒนาปัญญา พระสงฆ์มีทัศนคติที่ถูกต้อง มีความรู้ความเข้าใจ ฉลาดรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น รูปแบบการปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้มีการประยุกต์วิธีการปฏิบัติให้เข้ากับบริบทของคณะสงฆ์ในจังหวัดศรีสะเกษซึ่งจะทำให้พระสงฆ์สามารถปฏิบัติงานตามหลักพระพุทธศาสนาได้ดี สอดคล้องกับนโยบายของมหาเถรสมาคม คือ (๑) ด้านการปกครองคณะสงฆ์ พระสงฆ์มีการสำรวมระวัง มีสติในการบริหารงานของคณะสงฆ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (๒) ด้านการศาสนศึกษา พระสงฆ์มีจิตเมตตาให้การช่วยเหลือต่อนักเรียน นักศึกษา (๓) ด้านการเผยแผ่ พระสงฆ์มีอุดมการณ์ในการ   เผยแผ่ศาสนา รักและศรัทธาต่อคำสอนของพระพุทธองค์ (๔) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ พระสงฆ์มีวิสัยทัศน์ มีรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจน  (๕) ด้านการสาธารณูปการ พระสงฆ์มีการพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้น ให้ความสำคัญและเห็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือบรณะปฏิสังขรวัดให้เจริญขึ้น และ    (๖) ด้านการสาธารณสงเคราะห์ พระสงฆ์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง มีจิตเมตตาต่อการสนับสนุนสังคมให้อยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานของคณะสงฆ์ทุกระดับ และมีรูปแบบในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕